เกิดจากความผิดปกติของลิ้น (valves) เล็ก ๆ ในหลอดเลือดดำ ไม่สามารถกั้นการไหลย้อนกลับของเลือดได้ จึงทำให้เลือดไหลย้อนลงมาคั่งอยู่ในหลอดเลือดดำส่วนปลาย ได้แก่ ส่วนที่อยู่ใกล้ผิวหนัง ทำให้เห็นเป็นหลอดเลือดที่โป่งพอง สีคล้ำ ๆ เรียกว่า หลอดเลือดขอดที่ขา
โรคนี้พบได้มากขึ้นตามอายุที่มากขึ้น และพบได้บ่อยในคนอายุมากกว่า 50 ปี
คนอ้วน ผู้หญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่มีอาชีพที่ต้องยืนเกือบทั้งวัน หรือยกของหนัก และผู้ที่มีพ่อแม่พี่น้องเป็นหลอดเลือดขอดที่เท้า มักมีโอกาสเป็นโรคนี้ได้มากขึ้น
อาการที่พบในระยะแรกเริ่ม จะเห็นหลอดเลือดโป่งพองสีคล้ำ ๆ ที่ขาเวลายืน โดยไม่มีอาการเจ็บปวดแต่อย่างใด ตำแหน่งที่พบบ่อย ได้แก่ บริเวณน่อง (แต่อาจพบตรงบริเวณใดก็ได้ ระหว่างตาตุ่มขึ้นไปถึงสะโพก)
ในหญิงตั้งครรภ์อาจพบหลอดเลือดขอดที่บริเวณช่องคลอด
เมื่อเป็นมากขึ้นอาจมีอาการปวดหน่วงหรือปวดเมื่อยในบริเวณนั้น หรือเท้าบวมหลังจากนั่งหรือยืนนาน ๆ อาการเหล่านี้จะเป็นมากขึ้นในผู้หญิงขณะมีประจำเดือน หรือก่อนมีประจำเดือน 2-3 วัน
ถ้าเป็นรุนแรงอาจมีผื่นคันขึ้นในบริเวณที่เป็นหลอดเลือดขอด โดยเฉพาะตรงบริเวณใกล้ ๆ ข้อเท้า ผิวหนังในบริเวณนั้นอาจออกเป็นสีคล้ำ ๆ
โดยทั่วไปไม่มีภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายแต่อย่างใด
แต่ถ้าหกล้มหรือถูกของมีคมบาดตรงบริเวณที่มีหลอดเลือดขอด อาจทำให้เกิดแผลเลือดออกรุนแรงได้
ถ้าเป็นหลอดเลือดขอดที่รุนแรง ผิวหนังในบริเวณนั้นอาจแตกกลายเป็นแผลเรื้อรัง เรียกว่า แผลจากหลอดเลือดขอด (varicose ulcer)
บางรายอาจเกิดลิ่มเลือดร่วมกับการอักเสบของหลอดเลือดดำ ซึ่งมักจะเป็นที่บริเวณผิว ๆ เรียกว่า หลอดเลือดดำส่วนผิวอักเสบมีลิ่มเลือด (superficial thrombophlebitis) ภาวะนี้มีอันตรายน้อย และมักหายได้เองภายใน 1-2 สัปดาห์ เนื่องจากเป็นลิ่มเลือดขนาดเล็ก และไม่หลุดลอยไปที่อื่น (อาการที่พบ คือ หลอดเลือดดำที่มีลิ่มเลือดจะมีลักษณะคลำได้เป็นเส้นแข็ง ออกแดง ร้อน และเจ็บ ให้การรักษาตามอาการ ได้แก่ ให้ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ประคบด้วยน้ำอุ่นจัด ๆ สวมใส่ถุงเท้าชนิดยืด หรือพันด้วยผ้าพันแผลชนิดยืด ยกเท้าสูงเวลานอนหรือนั่ง)
แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการและการตรวจพบหลอดเลือดโป่งพองสีคล้ำ ๆ ที่บริเวณขา
ในการประเมินความรุนแรงของโรค แพทย์จะทำการตรวจดูความผิดปกติของลิ้น (valves) ในหลอดเลือดดำด้วยอัลตราซาวนด์
แพทย์จะให้การดูแลรักษา ดังนี้
1. ถ้าเริ่มเป็นหรือมีอาการเพียงเล็กน้อย จะแนะนำให้ผู้ป่วยดูแลตนเอง โดยการปฏิบัติตัวต่าง ๆ และให้ผู้ป่วยใส่ถุงน่องที่ใช้รักษาหลอดเลือดขอด (compression stockings) ไว้ตลอดวัน เพื่อช่วยบีบไล่ให้เลือดเคลื่อนตัวกลับสู่หัวใจได้ดียิ่งขึ้น
2. ในรายที่เกิดมีแผลจากหลอดเลือดขอด ถ้าแผลขนาดเล็ก ควรชะล้างแผล ทำแผลทุกวัน ร่วมกับให้ผู้ป่วยยกเท้าสูง และใส่ถุงน่องยืด (หรือรัดเท้าด้วยผ้ายืด) ก็อาจช่วยให้แผลหายได้ แต่ถ้าแผลมีขนาดใหญ่ อาจต้องทำการผ่าตัดหลอดเลือดขอดออก และอาจต้องรักษาแผลโดยวิธีปลูกถ่ายผิวหนัง (skin graft) คือ นำผิวหนังจากที่อื่นมาปะแทน
3. ถ้ารักษาด้วยวิธีข้างต้นไม่ได้ผลหรือเป็นรุนแรง แพทย์จะให้การรักษา ด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น
- การฉีดยาเข้าไปในหลอดเลือดดำที่ขอด ทำให้เกิดการแข็งตัวและตีบตันเพื่อตัดการไหลเวียนของเลือด (sclerotherapy)
- การฉีดโฟมเข้าไปในหลอดเลือดดำขนาดใหญ่ที่ขอด ทำให้เกิดการแข็งตัวและตีบตัน (foam sclerotherapy)
- การรักษาด้วยเลเซอร์ (laser therapy)
- การรักษาด้วยการใช้ความร้อนจากคลื่นความถี่วิทยุ (radiofrequency เรียกว่า “Radio frequency ablation, RFA”) หรือเลเซอร์ (laser energy เรียกว่า “Endovenous laser therapy, EVLT”) ซึ่งส่งผ่านสายสวนที่สอดใส่เข้าไปในหลอดเลือดที่ขอด เข้าไปทำให้หลอดเลือดยุบตัวลง
- การผูกและดึงหลอดเลือดดำที่ขอดออกไป (high ligation and vein stripping )
- การผ่าตัดด้วยการส่องกล้อง (endoscopic vein surgery) สำหรับโรคที่เป็นรุนแรงเกิดมีแผลเรื้อรัง ซึ่งลองใช้วิธีอื่นแล้วไม่ได้ผล
4. ในรายที่เกิดมีแผลจากหลอดเลือดขอด ถ้าแผลขนาดเล็ก ควรชะล้างแผล ทำแผลทุกวัน ร่วมกับให้ผู้ป่วยยกเท้าสูง และใส่ถุงน่องยืด (หรือรัดเท้าด้วยผ้ายืด) ก็อาจช่วยให้แผลหายได้ แต่ถ้าแผลมีขนาดใหญ่ อาจต้องทำการผ่าตัดหลอดเลือดขอดออก และอาจต้องรักษาแผลโดยวิธีปลูกถ่ายผิวหนัง (skin graft) คือ นำผิวหนังจากที่อื่นมาปะแทน
1. ถ้าเริ่มเป็นหรือมีอาการเพียงเล็กน้อย ผู้ป่วยควรดูแลตนเอง ดังนี้
- หมั่นออกกำลังกาย
- ลดน้ำหนัก ถ้าน้ำหนักเกินหรืออ้วน
- หมั่นเปลี่ยนอิริยาบถบ่อย ๆ หลีกเลี่ยงการนั่งหรือยืนนาน ๆ และไม่นั่งไขว่ห้างนาน ๆ
- หลีกเลี่ยงการใช้เสื้อผ้าคับหรือรัดแน่น โดยเฉพาะในบริเวณเอว ขาหนีบ และขา
- พยายามนั่งหรือนอนยกเท้าให้สูงกว่าระดับหน้าอก เพื่อช่วยให้เลือดไหลกลับสู่หัวใจดีขึ้น
- ใส่ถุงน่องที่ใช้รักษาหลอดเลือดขอดไว้ตลอดวัน
2. ถ้ามีเลือดไหลจากหลอดเลือดขอด ควรดูแลตนเองโดยการนั่งหรือนอนยกเท้าให้สูงกว่าระดับหน้าอก และใช้ผ้าสะอาดกดแรง ๆ ตรงรอยแผลที่มีเลือดออก เมื่อเลือดหยุดแล้ว ให้ทำความสะอาดแผลแบบบาดแผลสดทั่ว ๆ ไป
3. ควรปรึกษาแพทย์ ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
- เมื่อดูแลตนเองแล้ว อาการปวดหน่วงหรือปวดเมื่อยขาหรือเท้าบวมไม่ทุเลา
- มีเลือดออก และห้ามเลือดด้วยตนเองไม่ได้ผล หรือบริเวณรอยแผลที่มีเลือดออกมีการติดเชื้ออักเสบ
- มีการอักเสบของหลอดเลือดดำ (มีลักษณะคลำได้เป็นเส้นแข็ง ออกแดง ร้อน และเจ็บ) หรือมีแผลที่เท้าเกิดขึ้นจากการแตกของผิวหนัง
- มีความวิตกกังวล
อาจป้องกันหรือลดความรุนแรงของโรคหลอดเลือดขอดที่เท้า ด้วยการปฏิบัติตัว ดังนี้
- หมั่นออกกำลังกาย
- หมั่นเปลี่ยนอิริยาบถบ่อย ๆ และหลีกเลี่ยงการนั่งหรือยืนนาน ๆ
- ควบคุมน้ำหนักตัว
- หลีกเลี่ยงการใช้เสื้อผ้าคับหรือรัดแน่น โดยเฉพาะในบริเวณเอว ขาหนีบ และขา
- หลีกเลี่ยงการใส่รองเท้าส้นสูงนาน ๆ
- ยกเท้าสูงเวลานอน
1. หลอดเลือดขอดที่ขาพบได้ในคนส่วนใหญ่ มักไม่มีความรุนแรงและไม่มีอันตรายร้ายแรง การปฏิบัติตัวตามที่แนะนำไว้ในหัวข้อ “การดูแลตนเอง ข้อที่ 1” มีส่วนช่วยป้องกันไม่ให้เป็นมากขึ้น
2. ในรายที่เป็นรุนแรง แพทย์จะเลือกวิธีรักษาโดยพิจารณาตามสภาพของผู้ป่วย ลักษณะและความรุนแรงของโรค หลังการรักษา ส่วนใหญ่มักจะหายได้เป็นปกติ แต่ส่วนน้อยอาจมีโอกาสกำเริบได้อีก ควรหาทางป้องกันไม่ให้กำเริบด้วยการปฏิบัติตัวในการป้องกันโรคนี้อย่างจริงจังและต่อเนื่อง
3. อาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อขา (เช่น บริเวณน่อง) เป็นครั้งคราว นอกจากมีสาเหตุจากหลอดเลือด (ดำ) ขอดแล้ว ยังอาจเกิดจากหลอดเลือดแดงขาตีบ ซึ่งพบบ่อยในคนสูงอายุ ผู้ที่เป็นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือสูบบุหรี่ ซึ่งมักมีอาการปวดขาข้างเดียวหลังเดินสักพัก และทุเลาเมื่อหยุดพักสักครู่ ดังนั้น ผู้ที่มีอาการปวดขาเวลานั่ง ยืน หรือเดินนาน ๆ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ