ปลายประสาทอักเสบ (Peripheral neuropathy)
ข้อมูลโดย รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ อดีตอาจารย์คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
ปลายประสาทอักเสบ (Peripheral neuropathy) ข้อมูลโรค พร้อมโปรแกรมตรวจอาการเบื้องต้น
ปลายประสาทอักเสบ (Peripheral neuropathy) อาการ สาเหตุ การป้องกันและรักษา พร้อมโปรแกรม “หมอประจำบ้าน” อัจฉริยะ Doctor at Home ตรวจอาการเบื้องต้นด้วยตัวเอง
ปลายประสาทอักเสบ (ปลายประสาทเสื่อม ก็เรียก) หมายถึง ความผิดปกติของประสาทส่วนปลาย (นอกเหนือจากสมองและไขสันหลัง) ทำให้ส่วนปลายของแขนขามีอาการชาและอ่อนแรง ซึ่งอาจเกิดขึ้นกับประสาทเส้นเดียว (mononeuropathy) หรือหลายเส้นพร้อมกัน (polyneuropathy) ก็ได้
โรคนี้พบมากในคนวัยกลางคนที่เป็นเบาหวาน หรือดื่มแอลกอฮอล์จัด
สาเหตุ
เกิดจากประสาทส่วนปลายเสื่อมซึ่งอาจมีสาเหตุจากการขาดอาหาร (เช่น โรคเหน็บชา โรคพิษสุราเรื้อรัง เบาหวาน จากพิษของยา (เช่น ไอเอ็นเอช) พิษของสารเคมี (เช่น ยาฆ่าแมลง ตะกั่ว สารหนู*) โรคติดเชื้อ (เช่น โรคเรื้อน คอตีบ โปลิโอ เอดส์) เอสแอลอี มะเร็ง (เช่น มะเร็งปอด มะเร็งต่อมน้ำเหลือง) เนื้องอกที่กดทับเส้นประสาท ภาวะบีบรัดเส้นประสาท (เช่น เส้นประสาทมือถูกพังผืดรัดแน่น) หรือการได้รับบาดเจ็บของเส้นประสาท
* บางครั้งอาจมีการผสมสารหนู (arsenic) ในยาหม้อ (ทั้งยาไทยและยาจีน) ถ้ากินประจำอาจทำให้เกิดพิษเรื้อรัง นอกจากอาจทำให้เป็นมะเร็งผิวหนังแล้ว ยังอาจทำให้ปลายประสาทอักเสบ มีลักษณะปวดเสียวและชาที่แขนขาพร้อมกันทั้ง 2 ข้าง
อาการ
มักค่อย ๆ เกิดขึ้นช้า ๆ กินเวลาเป็นแรมเดือนหรือแรมปี โดยมีอาการชา รู้สึกซู่ซ่า หรือปวดแสบปวดร้อนตามปลายมือปลายเท้า ซึ่งมักจะเป็นมากตอนกลางคืนหรือเวลาสัมผัสถูก ถ้าเป็นมากจะรู้สึกชา เข็มแทงไม่เจ็บ โดยกินบริเวณปลายมือปลายเท้าคล้ายกับการใส่ถุงมือถุงเท้า
ผู้ป่วยอาจมีอาการปลายมือปลายเท้าอ่อนแรง ถ้าเป็นมากอาจเป็นอัมพาต (เช่น มือตก เท้าตก หรือแขนขาเป็นอัมพาต) กล้ามเนื้อลีบ เดินเซ
บางรายอาจมีอาการกลั้นอุจจาระปัสสาวะไม่ได้ ท้องเดิน มีภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ หรือความดันตกในท่ายืน
ในผู้ป่วยเบาหวาน นอกจากอาการชาปลายมือปลายเท้าแล้ว ยังอาจมีอาการเห็นภาพซ้อน เนื่องจากประสาทเลี้ยงกล้ามเนื้อเคลื่อนไหวลูกตาเกิดการอักเสบหรือเสื่อม
ภาวะแทรกซ้อน
อาจทำให้เกิดบาดแผลได้ง่าย เนื่องจากไม่มีความรู้สึก ถ้าเป็นรุนแรงอาจทำให้แขนขาเป็นอัมพาต
การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการและสิ่งตรวจพบ ดังนี้
มีอาการชา เข็มแทงไม่เจ็บหรือเจ็บน้อยกว่าปกติที่ส่วนปลายแขนขา มือตก เท้าตก การตรวจรีเฟล็กซ์ของข้อ (tendon reflex) มักจะลดลงหรือไม่มี
แพทย์จะทำการวินิจฉัยโดยการตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ เอกซเรย์ หรือตรวจพิเศษอื่น ๆ
การรักษาโดยแพทย์
แพทย์จะให้การรักษาตามสาเหตุที่พบ เช่น รักษาเบาหวาน ตะกั่วเป็นพิษ โรคเหน็บชา โรคพิษสุราเรื้อรัง เป็นต้น
ถ้าแขนขาอ่อนแรง อาจให้การรักษาทางกายภาพบำบัดร่วมด้วย
ผลการรักษา ถ้าเริ่มเป็นระยะแรก (ก่อนประสาทเสื่อมอย่างถาวร) และสามารถแก้ไขสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคนี้ได้ ก็มีทางรักษาให้หายขาดได้ บางรายอาจใช้เวลาค่อย ๆ ฟื้นตัว 6-12 เดือน อาการชาจะหายก่อน ส่วนอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงจะหายทีหลัง แต่ถ้าประสาทเสื่อมอย่างถาวร (เช่น ผู้ป่วยเบาหวานที่เป็นมานาน) การรักษามักไม่ค่อยได้ผล ผู้ป่วยจะมีอาการชาอย่างถาวร ซึ่งต้องระวังไม่ให้เกิดบาดแผลที่เท้า
การดูแลตนเอง
หากสงสัย เช่น มีอาการชา รู้สึกซู่ซ่า หรือปวดแสบปวดร้อนตามปลายมือปลายเท้า ปลายมือปลายเท้าอ่อนแรง มือตก เท้าตก หรือ เดินเซ ควรปรึกษาแพทย์
เมื่อตรวจพบว่าเป็นปลายประสาทอักเสบ ควรดูแลรักษาและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ และติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินต่อที่บ้าน ถ้ากินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา (เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม คลื่นไส้ อาเจียน หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ) ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด
การป้องกัน
เนื่องจากโรคนี้เกิดจากสาเหตุได้หลายประการ ซึ่งมีทั้งป้องกันได้และป้องกันไม่ได้
ส่วนที่ป้องกันได้ เช่น การป้องกันการขาดอาหาร การควบคุมโรคเบาหวาน การป้องกันพิษสารตะกั่ว เป็นต้น
ข้อแนะนำ
1. ผู้ที่มีอาการชาปลายมือปลายเท้า นอกจากโรคเหน็บชาแล้ว ยังอาจมีสาเหตุอื่น ๆ ได้อีกมากมาย (ตรวจอาการ "ชา" ประกอบ)
2. ผู้ป่วยที่เป็นโรคปลายประสาทอักเสบ ควรระมัดระวังการเกิดบาดแผลที่ปลายมือปลายเท้า ถ้าพบว่ามีบาดแผลหรือฟกช้ำที่ปลายมือปลายเท้า ควรพบแพทย์เพื่อให้การรักษาเสียแต่เนิ่น ๆ ถ้าปล่อยไว้แผลอาจลุกลามและรักษายาก
ข้อมูลล่าสุด : 29 พ.ย. 2566
Smart Doctor© โปรแกรม "หมอประจำบ้าน" อัจฉริยะ
โปรดเลือกอาการที่เป็นสัญญาณของ "ปลายประสาทอักเสบ (Peripheral neuropathy)" เพื่อตรวจอาการเบื้องต้น ก่อนไปพบแพทย์
Smart Doctor© โปรแกรม "หมอประจำบ้าน" อัจฉริยะ
โปรดเลือกอาการที่เป็นสัญญาณของ "ปลายประสาทอักเสบ (Peripheral neuropathy)" เพื่อตรวจอาการเบื้องต้น ก่อนไปพบแพทย์