โรคฝีสมองมักเป็นภาวะแทรกซ้อนจากโรคติดเชื้อเรื้อรังต่าง ๆ ควรดูแลรักษาโรคเหล่านี้อย่างจริงจังเพื่อป้องกันไม่ให้เป็นฝีสมอง และหากมีอาการสงสัยว่าอาจเป็นฝีสมอง ควรรีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลโดยเร็ว การได้รับการรักษาแต่เนิ่น ๆ จะช่วยให้ปลอดภัยและลดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ
ฝีสมอง (Brain abscess)
ข้อมูลโดย รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ อดีตอาจารย์คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
ฝีสมอง (Brain abscess) ข้อมูลโรค พร้อมโปรแกรมตรวจอาการเบื้องต้น
ฝีสมอง (Brain abscess) อาการ สาเหตุ การป้องกันและรักษา พร้อมโปรแกรม “หมอประจำบ้าน” อัจฉริยะ Doctor at Home ตรวจอาการเบื้องต้นด้วยตัวเอง
ฝีสมอง เป็นภาวะร้ายแรงที่พบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่
ผู้ป่วยมักมีประวัติการติดเชื้ออยู่ก่อน เช่น หูชั้นกลางอักเสบ (หูน้ำหนวกเรื้อรัง) ไซนัสอักเสบ ปอดอักเสบ หลอดลมพอง เป็นไข้เรื้อรัง หรือมีประวัติได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ
สาเหตุ
มักเกิดขึ้นเนื่องจากมีการลุกลามของเชื้อแบคทีเรีย (เช่น สแตฟีโลค็อกคัส เชื้อแบคทีเรียชนิดไม่พึ่งออกซิเจน) จากอวัยวะใกล้เคียงที่มีการอักเสบอยู่ก่อน เช่น หูชั้นกลางอักเสบ โพรงมาสตอยด์อักเสบ ไซนัสอักเสบ รากฟันเป็นหนอง เป็นต้น หรืออาจแพร่กระจายผ่านทางกระแสเลือดจากแหล่งติดเชื้ออื่น ๆ เช่น เยื่อบุหัวใจอักเสบ โรคหัวใจแต่กำเนิดชนิดมีอาการเขียว (cyanotic congenital heart disease) โรคติดเชื้อเรื้อรังในปอด (เช่น ฝีปอด ภาวะมีหนองในโพรงเยื่อหุ้มปอด หลอดลมพอง) ภาวะโลหิตเป็นพิษ เป็นต้น หรืออาจได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ (เช่น ถูกยิงผ่านกะโหลกศีรษะเข้าไปในเนื้อสมอง กะโหลกศีรษะแตก) แล้วมีเชื้อโรคแปดเปื้อนเข้าไปในสมอง
อาจพบเป็นภาวะแทรกซ้อนของเยื่อหุ้มสมองอักเสบ
ในผู้ป่วยเอดส์อาจเป็นฝีสมองจากโปรโตซัว (ได้แก่ Toxoplasma gondii)
นอกจากนี้ยังอาจเกิดจากเชื้อรา เช่น แอสเปอจิลลัส
อาการ
ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูง เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย และมีอาการทางสมอง เช่น ปวดศีรษะอย่างรุนแรง อาเจียนรุนแรง ซึม เพ้อ คลั่ง ชัก แขนขาอ่อนแรง เดินเซ เห็นภาพซ้อน หรือตาพร่ามัวลงเรื่อย ๆ
ถ้าเป็นมาก อาจมีอาการหมดสติ และตายในเวลารวดเร็ว
ภาวะแทรกซ้อน
เชื้ออาจลุกลามทำให้เยื่อหุ้มสมองอักเสบ
ในรายที่รักษาให้รอดชีวิต สมองบางส่วนถูกทำลาย ทำให้เกิดแขนขาพิการ หรือโรคลมชักได้
การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการและสิ่งตรวจพบ ดังนี้
ไข้สูง แขนขาอ่อนแรง เดินเซ ชัก อาจตรวจพบอาการคอแข็ง รูม่านตา 2 ข้างไม่เท่ากัน (ข้างที่มีฝีจะโตกว่าปกติ และไม่หดลงเมื่อใช้ไฟส่อง)
แพทย์จะทำการวินิจฉัยให้แน่ชัด โดยการถ่ายภาพสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าหรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง และอาจต้องทำการตรวจพิเศษอื่น ๆ
การรักษาโดยแพทย์
ถ้าพบว่าเป็นฝีสมอง แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะ และทำการผ่าตัดระบายเอาหนองออก หรือเอาก้อนฝีออก
เมื่อรักษาฝีสมองจนหายแล้ว ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการอัมพาต หรือโรคลมชักแทรกซ้อน อาจต้องรักษาทางกายภาพบำบัด หรือให้ยารักษาโรคลมชักต่อไป
การดูแลตนเอง
หากสงสัย เช่น มีไข้สูงร่วมกับปวดศีรษะรุนแรง อาเจียนรุนแรง แขนขาอ่อนแรง ชัก หรือ เดินเซ ควรไปพบแพทย์โดยเร็ว
เมื่อตรวจพบว่าเป็นฝีสมอง ควรดูแลรักษาและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ และติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินต่อที่บ้าน ถ้ากินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา (เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม คลื่นไส้ อาเจียน หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ) ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด
การป้องกัน
1. ป้องกันการเกิดบาดเจ็บที่ศีรษะจากอุบัติเหตุต่าง ๆ
2. รักษาโรคติดเชื้อที่เป็นต้นเหตุของฝีสมองให้ได้ผล เช่น เอดส์ หูชั้นกลางอักเสบ โพรงมาสตอยด์อักเสบ ไซนัสอักเสบ รากฟันเป็นหนอง โรคติดเชื้อเรื้อรังในปอด เป็นต้น
ข้อแนะนำ
ข้อมูลล่าสุด : 7 ก.ค. 2565
Smart Doctor© โปรแกรม "หมอประจำบ้าน" อัจฉริยะ
โปรดเลือกอาการที่เป็นสัญญาณของ "ฝีสมอง (Brain abscess)" เพื่อตรวจอาการเบื้องต้น ก่อนไปพบแพทย์
Smart Doctor© โปรแกรม "หมอประจำบ้าน" อัจฉริยะ
โปรดเลือกอาการที่เป็นสัญญาณของ "ฝีสมอง (Brain abscess)" เพื่อตรวจอาการเบื้องต้น ก่อนไปพบแพทย์