ฟันเหลืองดำ/ฟันตกกระ (Discolored teeth)
ข้อมูลโดย รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ อดีตอาจารย์คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
ฟันเหลืองดำ/ฟันตกกระ (Discolored teeth) ข้อมูลโรค พร้อมโปรแกรมตรวจอาการเบื้องต้น
ฟันเหลืองดำ/ฟันตกกระ (Discolored teeth) อาการ สาเหตุ การป้องกันและรักษา พร้อมโปรแกรม “หมอประจำบ้าน” อัจฉริยะ Doctor at Home ตรวจอาการเบื้องต้นด้วยตัวเอง
ฟันเหลืองดำ เป็นภาวะที่พบได้บ่อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะพบเป็นถาวรในผู้ที่ใช้ยาเตตราไซคลีนและดอกซีไซคลีน อย่างพร่ำเพรื่อและไม่ถูกต้อง
สาเหตุ
สาเหตุที่ทำให้ฟันมีสีเหลืองดำผิดปกติ ที่พบบ่อย ได้แก่ บุหรี่ สีผสมในอาหาร เชื้อแบคทีเรีย มักจะทำให้เกิดคราบเหลืองดำที่ส่วนผิวของฟัน ซึ่งสามารถขัดออกได้
สาเหตุสำคัญที่ทำให้ฟันเหลืองดำอย่างถาวร ได้แก่ เตตราไซคลีน ดอกซีไซคลีน และฟลูออไรด์
เด็กที่มีฟันเหลืองดำ เนื่องจากเตตราไซคลีนหรือดอกซีไซคลีน มักมีประวัติว่า มารดากินยานี้ขณะตั้งครรภ์ หรือเด็กกินยานี้เมื่ออายุต่ำกว่า 8 ปี ยานี้จะเคลือบอยู่ในเนื้อฟันอย่างถาวร ทำให้เป็นสีเหลืองดำ หรือออกกระดำกระด่าง ขัดสีอย่างไรก็ไม่ออก
ส่วนฟันเหลืองดำจากฟลูออไรด์ (dental fluorosis) เกิดจากการกินสารฟลูออไรด์ในขนาดเกินไป (จากน้ำดื่มที่มีฟลูออไรด์สูงกว่า 2 ส่วนในล้าน หรือได้รับฟลูออไรด์ในรูปของยามากกว่า 1 มก./วัน) ในช่วงอายุตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 14 ปี ซึ่งกำลังมีการเจริญเติบโตของหน่อฟันอ่อน ทำให้ฟันเปลี่ยนสีเป็นสีขาวขุ่นหรือสีน้ำตาล หากหน่ออ่อนเจริญเติบโตเต็มที่แล้ว ไม่ว่าจะได้รับฟลูออไรด์มากเท่าไร ก็ไม่ทำให้ฟันเหลืองดำ
อาการ
สังเกตเห็นฟันมีสีเหลืองดำหรือกระดำกระด่าง
ภาวะแทรกซ้อน
ทำให้ฟันแลดูไม่ปกติ อาจทำให้ผู้ป่วยมีความรู้สึกอายหรือมีปมด้อย
การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยจากการตรวจพบ ฟันมีสีเหลืองดำหรือกระดำกระด่าง
การรักษาโดยแพทย์
ฟันเหลืองดำไม่ใช่โรคที่มีอันตรายแต่อย่างใด นอกจากทำให้เสียบุคลิกภาพ หรือเกิดปมด้อยเท่านั้น ถ้าเป็นไม่มากหรือไม่น่าเกลียด ก็ไม่ต้องให้การรักษาแต่อย่างใด ถ้าเป็นจนน่าเกลียด ทันตแพทย์อาจช่วยขัดออก แต่ถ้าฟันเหลืองดำอย่างถาวร และเป็นทุกซี่ ก็ยังไม่มีวิธีแก้ไขที่เหมาะสม
การดูแลตนเอง
หากมีอาการฟันเหลืองดำผิดปกติ ควรปรึกษาแพทย์ หรือทันตแพทย์
เมื่อตรวจพบว่าฟันเหลืองดำ ควรดูแลรักษาและปฏิบัติตามคำแนะนำของทันตแพทย์ และติดตามการรักษาตามที่ทันตแพทย์นัด
การป้องกัน
หลีกเลี่ยงการใช้กลุ่มยาเตตราไซคลีน (ได้แก่ เตตราไซคลีน ดอกซีไซคลีน) ในหญิงตั้งครรภ์ และเด็กกินยานี้เมื่ออายุต่ำกว่า 8 ปี
ข้อแนะนำ
อาการฟันเหลืองดำ ที่เกิดจากกลุ่มยาเตตราไซคลีน เป็นปัญหาที่พบบ่อยในสมัยก่อน เนื่องจากการขาดความรู้ในเรื่องนี้ รวมทั้งมีการจำหน่ายยานี้เป็นชนิดผงบรรจุซอง ซึ่งชาวบ้านซื้อใช้เองอย่างพร่ำเพรื่อด้วยความเข้าใจผิดว่าเป็นยาแก้ไข้สำหรับเด็ก ปัจจุบันพบปัญหานี้น้อยลง ด้วยการมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ และมีการควบคุมการผลิตและจำหน่ายยานี้อย่างได้ผล
ข้อมูลล่าสุด : 16 ก.ย. 2564
Smart Doctor© โปรแกรม "หมอประจำบ้าน" อัจฉริยะ
โปรดเลือกอาการที่เป็นสัญญาณของ "ฟันเหลืองดำ/ฟันตกกระ (Discolored teeth)" เพื่อตรวจอาการเบื้องต้น ก่อนไปพบแพทย์
Smart Doctor© โปรแกรม "หมอประจำบ้าน" อัจฉริยะ
โปรดเลือกอาการที่เป็นสัญญาณของ "ฟันเหลืองดำ/ฟันตกกระ (Discolored teeth)" เพื่อตรวจอาการเบื้องต้น ก่อนไปพบแพทย์