ตาอักเสบจากหนองใน พบในทารกแรกเกิดที่มารดามีเชื้อหนองในอยู่ในช่องคลอด ปัจจุบันพบได้น้อย
สาเหตุ
เกิดจากการติดเชื้อหนองใน (gonococcus) จากช่องคลอดของมารดาขณะที่คลอด
อาการ
หลังคลอดได้ 1-4 วัน ทารกจะมีอาการตาอักเสบ หนังตาบวมแดง ลืมตาไม่ได้ และมีขี้ตาแฉะ ลักษณะเป็นหนองสีเหลืองหรือสีเขียว
ภาวะแทรกซ้อน
ถ้าปล่อยทิ้งไว้ อาจลุกลามจนทำให้เป็นแผลกระจกตา สายตาพิการได้
การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยขั้นต้นจากอาการและสิ่งตรวจพบ และทำการวินิจฉัยให้แน่ชัดโดยการนำหนองที่ตาไปตรวจดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ ซึ่งจะพบเชื้อหนองใน (Neisseria gonorrheae)
การรักษาโดยแพทย์
แพทย์จะรับตัวไว้ในโรงพยาบาล ให้การรักษาด้วยการฉีดเซฟทริอะโซน (ceftriaxone) เข้ากล้ามครั้งเดียว และล้างตาด้วยน้ำเกลือหรือยาล้างตาทุกชั่วโมง จนกว่าหนองจะแห้ง ยานี้ควรให้ด้วยความระมัดระวังในทารกคลอดก่อนกำหนด หรือมีอาการตัวเหลือง
การดูแลตนเอง
หากสงสัย เช่น ทารกแรกเกิดมีอาการหนังตาบวมแดง มีขี้ตาแฉะ ลืมตาไม่ได้ ควรปรึกษาแพทย์โดยเร็ว
เมื่อตรวจพบว่าเป็นตาอักเสบจากเชื้อหนองใน ควรดูแลตนเอง ดังนี้
- รักษา กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
- ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้าสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน จุดแดงจ้ำเขียว หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ
การป้องกัน
1. ทารกหลังคลอดทุกราย ควรใช้ยาหยอดตา เช่น ซิลเวอร์ไนเทรต (AgNO3) ชนิด 1% หรือยาป้ายตาเตตราไซคลีน หรือยาป้ายตาอีริโทรไมซินชนิด 0.5% เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคนี้
2. ทารกที่เกิดจากมารดาที่เป็นหนองในขณะคลอด ควรป้องกันโดยการฉีดเซฟทริอะโซนในขนาดเดียวกับที่ใช้รักษา
ข้อแนะนำ
ถ้าพบทารกแรกเกิด มีอาการตาบวมตาแฉะซึ่งเกิดขึ้นภายใน 4 วันแรกหลังคลอด ควรนึกถึงการติดเชื้อหนองใน และควรพาไปพบแพทย์โดยเร็ว