มะเร็งช่องปาก หมายถึง มะเร็งที่เกิดขึ้นในบริเวณช่องปาก ได้แก่ ริมฝีปาก ลิ้น กระพุ้งแก้ม เหงือก ลิ้นไก่ เพดานแข็ง และพื้นปาก (ใต้ลิ้น) ซึ่งจัดว่าเป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยชนิดหนึ่ง พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงประมาณ 2 เท่า มักพบในผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปี
ตำแหน่งแผลมะเร็งช่องปาก
สาเหตุ
ส่วนใหญ่มีความสัมพันธ์กับการสูบบุหรี่ และดื่มแอลกอฮอล์จัด (ประมาณร้อยละ 90 ของผู้ป่วยมีประวัติสูบบุหรี่ และดื่มแอลกอฮอล์) การถูกแสงแดด (ประมาณร้อยละ 30 ของผู้ป่วยมะเร็งริมฝีปากมีประวัติสัมผัสแสงแดดเป็นเวลายาวนาน)
นอกจากนี้ยังอาจมีความสัมพันธ์กับปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ เช่น
- การติดเชื้อไวรัสเอชพีวี (HPV/human papilloma virus) ชนิด 16 และ18 ซึ่งเป็นชนิดเดียวกับที่ทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูก
- การกินผักและผลไม้น้อย
- การใส่ฟันปลอมที่หลวม ทำให้เกิดการระคายเคืองเรื้อรัง และอาจกักสารก่อมะเร็ง (เช่น แอลกอฮอล์ สารเคมีในบุหรี่) ให้สัมผัสกับเยื่อบุภายในช่องปากนานขึ้น
- การที่เคยได้รับรังสีเอกซ์
- การใช้ยากดภูมิคุ้มกันในผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ
- การเคี้ยวหมาก (ซึ่งมีสารก่อมะเร็ง) การเคี้ยวหรือจุกยาฉุน การใช้ยานัตถุ์
- การระคายเคืองเรื้อรัง เช่น แผลจากฟันเก ฟันบิ่น ขอบฟันที่คม เป็นต้น
อาการ
มีอาการแสดงได้หลายลักษณะ (ขึ้นกับระยะและตำแหน่งของโรค) ดังต่อไปนี้
- มีฝ้าขาว (leukoplakia) หรือฝ้าแดง (erythroplakia) บนเยื่อบุภายในช่องปาก
- เป็นแผลเล็ก ๆ คล้ายแผลแอฟทัส ไม่รู้สึกเจ็บ เป็นนานเกิน 3 สัปดาห์ หรือมีเลือดออกง่าย
- คลำได้ก้อนในช่องปาก หรือข้างคอ
- รู้สึกเจ็บหรือมีความลำบากในการกลืน พูดหรือเคี้ยว
- ใส่ฟันปลอมที่เคยใช้ไม่ได้
- มีอาการฟันโยก ฟันหลุด (เนื่องจากเนื้องอก)
- มีอาการเสียงแหบเรื้อรัง (เกิน 3 สัปดาห์)
- มีอาการชาบริเวณปากหรือใบหน้า
ภาวะแทรกซ้อน
ถ้าไม่ได้รับการรักษาแต่เนิ่น ๆ มะเร็งอาจลุกลามไปยังบริเวณใกล้เคียงและอวัยวะต่าง ๆ ทั่วร่างกาย
การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยขั้นต้นจากอาการและการตรวจพบรอยโรคในบริเวณปาก
แพทย์จะทำการการวินิจฉัยให้แน่ชัด โดยการตรวจชิ้นเนื้อ (biopsy) ที่ตัดจากรอยโรคที่สงสัย และทำการตรวจพิเศษอื่น ๆ เช่น ตรวจเลือด ปัสสาวะ เอกซเรย์ ถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เป็นต้น เพื่อประเมินความรุนแรงหรือระยะของโรค
การรักษาโดยแพทย์
ส่วนใหญ่มักจะรักษาด้วยการผ่าตัดหรือการฉายรังสี (รังสีบำบัด) หรือใช้ร่วมกัน ขึ้นกับขนาดและตำแหน่งของมะเร็ง
นอกจากนี้ อาจให้เคมีบำบัดร่วมด้วย เช่น ให้ก่อนผ่าตัดหรือฉายรังสีในกรณีที่มะเร็งมีขนาดใหญ่ หรือเป็นมะเร็งระยะแพร่กระจาย
ผลการรักษา ขึ้นกับชนิดและระยะของมะเร็ง ส่วนใหญ่มักจะได้ผลดี และมีชีวิตได้ยืนยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าพบมะเร็งในระยะแรก
การดูแลตนเอง
หากสงสัย เช่น มีแผลหรือรอยฝ้าขาวหรือฝ้าแดงในช่องปากนานเกิน 3 สัปดาห์ มีก้อน คลำได้ก้อนในช่องปาก หรือข้างคอ รู้สึกเจ็บ หรือมีความลำบากในการกลืน พูดหรือเคี้ยว ควรปรึกษาแพทย์
เมื่อตรวจพบว่าเป็นมะเร็งช่องปาก ควรดูแลตนเอง ดังนี้
- รักษาและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
- ติดตามการรักษากับแพทย์ตามนัด
- หลีกเลี่ยงการซื้อยามากินเอง
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ เน้นผัก ผลไม้ ธัญพืช โปรตีนที่มีไขมันน้อย (เช่น ปลา ไข่ขาว เต้าหู้ ผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง)
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และหาทางผ่อนคลายความเครียด
- ออกกำลังกายและทำกิจกรรมต่าง ๆ รวมทั้งงานอดิเรกที่ชอบ และงานจิตอาสา เท่าที่ร่างกายจะอำนวย
- ทำสมาธิ เจริญสติ หรือสวดมนต์ภาวนาตามหลักศาสนาที่นับถือ
- ถ้ามีโอกาสควรหาทางเข้าร่วมกิจกรรมของกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน หรือกลุ่มมิตรภาพบำบัด
- ผู้ป่วยและญาติควรหาทางเสริมสร้างกำลังใจให้ผู้ป่วย ยอมรับความจริง และใช้ชีวิตในปัจจุบันให้ดีและมีคุณค่าที่สุด
- ถ้าหากมีเรื่องวิตกกังวลเกี่ยวกับโรคและวิธีบำบัดรักษา รวมทั้งการแสวงหาทางเลือกอื่น (เช่น การใช้สมุนไพร ยาหม้อ ยาลูกกลอน การนวด ประคบ การฝังเข็ม การล้างพิษ หรือวิธีอื่น ๆ) ควรขอคำปรึกษาจากแพทย์ และทีมสุขภาพที่ดูแลประจำและรู้จักมักคุ้นกันดี
- ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินที่บ้าน ถ้ากินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา (เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม คลื่นไส้ อาเจียน หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ) ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด
ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
- มีอาการไม่สบายหรืออาการผิดปกติ เช่น มีไข้ อ่อนเพลียมาก หอบเหนื่อย หายใจลำบาก ชัก แขนขาชาหรืออ่อนแรง ซีด มีเลือดออก ปวดท้อง ท้องเดิน อาเจียน เบื่ออาหารมาก กินไม่ได้ ดื่มน้ำไม่ได้ เป็นต้น
- ขาดยาหรือยาหาย
- ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินที่บ้าน ถ้ากินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ
การป้องกัน
1. หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์จัด การถูกแสงแดดเป็นเวลานาน รวมทั้งการเคี้ยวหมาก เคี้ยวหรือจุกยาฉุน และนัตถุ์ยา เป็นต้น
2. กินผักและผลไม้ให้มาก ๆ
3. รักษาสุขภาพช่องปากและฟัน โดยการแปรงฟันให้ถูกวิธี และบ้วนปากหลังกินอาหารทันที
4. ถ้ามีฟันเก ฟันบิ่น ขอบฟันคม หรือฟันปลอมที่หลวม ควรแก้ไขอย่าปล่อยให้ครูดถูกเยื่อบุในช่องปาก
5. ถ้ามีฟันปลอม ควรถอดออกมาล้าง (โดยเฉพาะบริเวณที่เป็นตะขอ) ให้สะอาดหลังกินอาหารทุกครั้ง และเวลาเข้านอนควรถอดฟันปลอมออก
ข้อแนะนำ
แนะนำให้คนทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปี หรือมีพฤติกรรมเสี่ยง หมั่นตรวจดูช่องปากของตนเอง (เช่น ขณะแปรงฟัน) และควรไปพบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพช่องปากและฟันทุก 6-12 เดือน
ถ้าพบฝ้าขาว ฝ้าแดง หรือเป็นแผลในช่องปากนาน เกิน 3 สัปดาห์ หรือคลำได้ก้อนในช่องปากหรือข้างคอ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ