โรคเชื้อราในช่องปาก พบได้ในคนทุกวัย พบบ่อยในทารก เด็กเล็ก (ซึ่งภูมิคุ้มกันยังสร้างได้ไม่เต็มที่) นอกจากนี้ยังพบในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ (เช่น ผู้ป่วยเอดส์ เบาหวาน หรือมะเร็ง ผู้ที่กินหรือพ่นยาสเตียรอยด์นาน ๆ ผู้ที่ได้รับเคมีบำบัดหรือรังสีบำบัด เป็นต้น) ผู้ที่ใช้ยาปฏิชีวนะ (เช่น อะม็อกซีซิลลิน เตตราไซคลีน ดอกซีไซคลีน) หรือยาเม็ดคุมกำเนิดนาน ๆ ผู้ที่ใส่ฟันปลอมหรือสูบบุหรี่ บุคคลเหล่านี้มีปัจจัยทำให้เชื้อราที่มีอยู่เป็นปกติวิสัยหรือประจำถิ่น (normal flora) ในช่องปากเกิดการแบ่งตัวเจริญเติบโตจนกลายเป็นโรคเชื้อราได้
มุมปากเปื่อยจากเชื้อรา พบบ่อยในผู้ที่เป็นเชื้อราในช่องปากบ่อย ผู้ป่วยเบาหวาน เอดส์ โลหิตจาง ผู้ที่สูบบุหรี่ หรือใช้ยาสเตียรอยด์เป็นประจำ และผู้ที่มีปัญหาสุขภาพช่องปากและฟัน (ทำให้มีปัญหาการสบฟัน มีน้ำลายสอตรงมุมปาก เกิดการติดเชื้อราได้ มักพบในผู้ที่มีอายุมากกว่า 40-50 ปี)
สาเหตุ
เกิดจากเชื้อราแคนดิดาอัลบิแคนส์ (Candida albicans/monilia) ที่อยู่เป็นปกติวิสัยในช่องปากแบ่งตัวเจริญเติบโตเนื่องจากผู้ป่วยมีภูมิคุ้มกันต่ำ หรือมีการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมในช่องปาก
ในทารกแรกเกิดอาจติดเชื้อชนิดนี้จากมารดา (ที่มีเชื้อราในช่องคลอด) ขณะคลอด ทำให้เกิดโรคเชื้อราในช่องปากภายใน 2-3 สัปดาห์หลังคลอด
อาการ
โรคเชื้อราในช่องปาก จะมีอาการลิ้นเป็นฝ้าขาวคล้ายคราบนม บางรายอาจมีฝ้าขาวที่เหงือก กระพุ้งแก้ม เพดานปาก ผนังคอหอย เมื่อใช้ไม้กดลิ้นเขี่ยออกจะพบพื้นข้างใต้อักเสบ (เป็นสีแดง) บางครั้งอาจมีเลือดซึม บางรายอาจมีอาการเจ็บหรือแสบลิ้น หรือในช่องปากร่วมด้วย
ถ้าพบในทารกอาจทำให้ทารกไม่ดูดนมหรือร้องงอแง
มุมปากเปื่อยจากเชื้อรา จะมีอาการมุมปาก 2 ข้างเป็นแผลเปื่อยและเจ็บ อาจมีอาการบวม แดง คัน หรือมีเลือดออก
ภาวะแทรกซ้อน
ในเด็กและผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพทั่วไปแข็งแรงดี มักไม่มีภาวะแทรกซ้อนจากโรคนี้
ส่วนผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยเอดส์) มักเป็นโรคเชื้อราในช่องปากรุนแรง เจ็บปากจนกินไม่ได้ และขาดอาหารได้ บางรายเชื้ออาจลุกลามลงไปที่หลอดอาหาร ทำให้หลอดอาหารอักเสบ (candidal esophagitis) มีอาการเจ็บหน้าอกเวลากลืน ทำให้กลืนลำบาก คลื่นไส้ อาเจียน กินอาหารไม่ได้ และขาดอาหารได้ นอกจากนี้ เชื้อรายังอาจกระจายเข้ากระแสเลือดไปยังอวัยวะต่าง ๆ ทั่วร่างกาย เกิดการติดเชื้อร้ายแรง เช่น ปอดอักเสบ ไตอักเสบ หัวใจอักเสบ สมองอักเสบ เป็นต้น
ทารกที่เป็นโรคเชื้อราในช่องปาก หากดูดนมมารดา อาจทำให้เต้านมมารดาอักเสบได้
สำหรับมุมปากเปื่อยจากเชื้อรา อาจลุกลามเข้าในช่องปากกลายเป็นโรคเชื้อราในช่องปาก หรือมีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน
การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยเบื้องต้นจากอาการ ประวัติการเจ็บป่วย และการตรวจร่างกาย ซึ่งมักพบลิ้นเป็นฝ้าขาวคล้ายคราบนม อาจพบฝ้าขาวที่เหงือก กระพุ้งแก้ม เพดานปาก หรือผนังคอหอย หรือพบแผลเปื่อยที่มุมปาก 2 ข้างแบบปากนกกระจอก
แพทย์จะทำการวินิจฉัยให้แน่ชัดโดยการใช้สำลีซับเอาของเหลวที่รอยแผลที่มุมปากไปตรวจหาเชื้อรา
การรักษาโดยแพทย์
แพทย์จะให้การดูแลรักษาดังนี้
1. ถ้าผู้ป่วยมีสุขภาพทั่วไปดี ให้การรักษาดังนี้
มุมปากเปื่อยจากเชื้อรา ป้ายด้วยยารักษาโรคเชื้อรา เช่น เจลป้ายปากไมโคนาโซลไนเทรต (miconazole nitrate oral gel) ชนิด 2% ป้ายวันละ 3-4 ครั้งนาน 7-14 วัน
ในรายที่มีการติดเชื้อแบคทีเรีย แพทย์จะใช้ยาต้านแบคทีเรีย (Mupirocin, Fusidic Acid) ชนิดครีมหรือขี้ผึ้งป้ายแผล
โรคเชื้อราในช่องปาก ใช้เจนเชียนไวโอเลตป้ายปากและลิ้น (ผู้ใหญ่ใช้ชนิด 2% เด็กใช้ชนิด 1% ป้ายวันละ 2-3 ครั้งจนกว่าจะหาย หรือนิสแตติน (nystatin) ชนิดน้ำ (100‚000 ยูนิต/มล.) ป้ายครั้งละ 1 มล. วันละ 4 ครั้งจนกว่าจะหาย แล้วให้ต่ออีก 48 ชั่วโมง
สำหรับผู้ใหญ่และเด็กโต อาจใช้ยาชนิดอม เช่น โคลไตรมาโซล (clotrimazole troche) 10 มก./เม็ด อมครั้งละ 1 เม็ด ให้อมในปากจนละลายหมดแล้วกลืน วันละ 5 ครั้ง นาน 14 วัน
สำหรับมารดาที่ให้บุตรดูดนม ขณะที่รักษาบุตรที่เป็นโรคเชื้อราในช่องปากควรใช้ยารักษาโรคเชื้อราในช่องปากป้ายหัวนมมารดาพร้อม ๆ กันไป เพื่อป้องกันไม่ให้มารดาติดเชื้อ
2. ถ้าเป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรัง หรือให้ยารักษาแล้วไม่ได้ผล หรือสงสัยว่าผู้ป่วยมีโรคอื่นร่วมด้วย (เช่น เบาหวาน เอดส์ โลหิตจาง) แพทย์จะทำการตรวจพิเศษเพิ่มเติม (เช่น ตรวจเลือด) และให้การรักษาตามสาเหตุที่พบ ถ้าพบว่าเป็นโรคเอดส์ จำเป็นต้องให้ยารักษาโรคเชื้อราให้ได้ผล เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงตามมา
ผลการรักษา ส่วนใหญ่หายได้ภายใน 1-2 สัปดาห์ ส่วนน้อยที่มีโรคอื่น (เบาหวาน เอดส์ โลหิตจาง) ร่วมด้วย แพทย์จะทำการรักษาควบคู่ไปด้วย
การดูแลตนเอง
หากสงสัย เช่น ลิ้นเป็นฝ้าขาว มีแผลเปื่อยที่มุมปาก ควรปรึกษาแพทย์
เมื่อตรวจพบว่าเป็นโรคเชื้อราในปากหรือมุมปาก ควรดูแลรักษา ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ และติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้าอาการไม่ทุเลาใน 1-2 สัปดาห์ หรือมีอาการที่สงสัยว่าเป็นผลข้างเคียงจากยาหรือแพ้ยา หรือมีความวิตกกังวล
การป้องกัน
1. หมั่นดูแลสุขภาพช่องปากและฟันให้สะอาด รวมทั้งไปตรวจสุขภาพช่องปาก และฟันกับทันตแพทย์ทุก 6-12 เดือน
2. หากปัญหาการสบฟัน หรือมีน้ำลายสอตรงมุมปาก ควรปรึกษาทันตแพทย์เพื่อแก้ไข
3. หากเป็นเบาหวาน เอดส์ โลหิตจาง ควรรักษาอย่างจริงจัง จนสามารถควบคุมโรคได้ดี
4. หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ และการซื้อยาสเตียรอยด์ (อาจอยู่ในยาชุด ยาลูกกลอน) มาใช้เอง
ข้อแนะนำ
ผู้ที่เป็นโรคเชื้อราในช่องปาก หรือมุมปากเปื่อย (ปากนกกระจอก) จากเชื้อราเรื้อรังหรือเป็น ๆ หาย ๆ บ่อย ควรตรวจหาสาเหตุ (เช่น เบาหวาน เอดส์ โลหิตจาง ปัญหาสุขภาพช่องปากและฟัน) และทำการแก้ไขก็จะช่วยป้องกันไมให้โรคเชื้อรากำเริบ