มีสาเหตุจากการแพ้ เช่น แพ้ฝุ่น ควัน เกสรดอกไม้ ความร้อน ความเย็น (เช่น ในห้องปรับอากาศ) ความชื้นอับ ยาหยอดตาที่เข้ายาปฏิชีวนะ เครื่องสำอาง (ทาขอบตา ทาขนตา) เป็นต้น
บางครั้งอาจพบร่วมกับโรคภูมิแพ้อื่น ๆ เช่น ลมพิษ หวัดภูมิแพ้ แพ้อาหาร แพ้ยา เป็นต้น
มักมีอาการเป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรังเป็นแรมปี
บางรายอาจมีอาการเฉพาะในฤดูร้อน ส่วนฤดูฝน และฤดูหนาวไม่มีอาการ มักพบในเด็กอนุบาลและชั้นประถมต้น เรียกว่า เยื่อตาขาวอักเสบฤดูร้อน (summer season conjunctivitis)
มีอาการคันตามาก มักจะคันตรงหัวตา ต้องขยี้ ยิ่งขยี้ก็ยิ่งคัน ถ้าขยี้มาก ๆ หนังตาจะบวมและช้ำ
ตาขาวจะมีสีแดงเรื่อ ๆ ผู้ป่วยมักมีน้ำตาไหล ตอนแรกน้ำตาจะใส ต่อมาจะเหนียว มักไม่มีขี้ตา หรือมีเพียงเล็กน้อย มีลักษณะใส ๆ หรือเป็นสีขาว
บางรายที่แพ้รุนแรง เยื่อตาขาวอาจบวมเป่งเป็นเยื่อใส ๆ แลดูน่าตกใจ
บางรายอาจมีอาการจาม คันคอ คันจมูก น้ำมูกใส ร่วมด้วย
ส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรงและไม่มีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง นอกจากทำให้รู้สึกรำคาญ ออกจากบ้านไม่ได้ เสียสมาธิในการเรียนและการทำงาน
ส่วนน้อยอาจมีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน กระจกตาอักเสบหรือเป็นแผลกระจกตา
แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการ ประวัติการเจ็บป่วย และการตรวจร่างกายเป็นหลัก ซึ่งมักตรวจพบอาการตาแดงเล็กน้อย หนังตาบวม บางรายอาจมีขี้ตาเล็กน้อย ลักษณะใส ๆ หรือสีขาว
บางรายแพทย์อาจทำการตรวจเลือดและทำการทดสอบว่าแพ้อะไร ในรายที่แยกไม่ออกจากเยื่อตาขาวอักเสบจากการติดเชื้อ อาจนำของเหลวที่ตาไปตรวจหาเชื้อและอีโอซิโนฟิล (เม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่งที่พบว่ามีมากกว่าปกติในผู้ที่มีภาวะภูมิแพ้)
แพทย์จะให้ยาบรรเทาอาการ เช่น ใช้น้ำตาเทียม หรือใช้ยาหยอดตาลดการอักเสบ ทุก 4-6 ชั่วโมง
ถ้าเป็นมาก แพทย์จะให้กินยาแก้แพ้ และ/หรือใช้ยาหยอดตาที่เข้าสเตียรอยด์ ยาหยอดตาจะใช้เท่าที่จำเป็น แต่ละครั้งไม่ควรใช้ติดต่อกันเกิน 7 วัน ถ้าใช้ติดต่อกันนาน ๆ อาจทำให้กลายเป็นต้อหินเรื้อรังได้
แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยพยายามสังเกตว่าแพ้อะไร เช่น อาหาร ยา (รวมทั้งยาหยอดตา) เครื่องสำอาง ฝุ่น ควัน ละอองเกสร ขนสัตว์ ความร้อน ความเย็น เป็นต้น แล้วหาทางหลีกเลี่ยง
ผลการร้กษา ผู้ป่วยจะมีอาการเป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรัง การใช้ยาเพียงบรรเทาอาการเป็นครั้งคราวเวลามีอาการสัมผัสสิ่งที่แพ้
เมื่อมั่นใจหรือได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นเยื่อตาขาวอักเสบจากการแพ้ ควรดูแลตนเองดังนี้
- ถ้ารู้สึกคันมาก พยายามอย่าขยี้ตา ควรประคบตาด้วยน้ำแข็ง โดยใส่ก้อนน้ำแข็งไว้ในถุงพลาสติก แล้วเอาผ้าเช็ดหน้าสะอาดห่ออีกชั้น วางประคบลงบนเปลือกตาข้างที่คัน
- งดใช้คอนแท็กต์เลนส์จนกว่าจะหายดี
- หลีกเลี่ยงสิ่งที่แพ้
- ใช้ยารักษา (เช่น กินยาแก้แพ้ ยาหยอดตา) ตามที่แพทย์แนะนำ
ควรไปพบแพทย์/กลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
- อาการไม่ทุเลาใน 2-3 วัน
- มีอาการปวดตา ตาแดงมากขึ้น มีขี้ตาแฉะ หรือสายตาพร่ามัว
- มีอาการที่สงสัยว่าเป็นผลข้างเคียงจากยาหรือแพ้ยา เช่น ลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม หายใจมีเสียงดังวี้ด ๆ หายใจลำบาก เวียนศีรษะ หน้ามืดเป็นลม ปวดท้อง ท้องผูก ท้องเดิน ถ่ายอุจจาระดำ คลื่นไส้ อาเจียน ดีซ่าน (ตาเหลือง) จุดแดงจ้ำเขียว เป็นต้น
- สังเกตว่ามีอาการกำเริบเวลาสัมผัสถูกอะไร หรือสงสัยว่าแพ้อะไร แล้วหาทางหลีกเลี่ยงเสีย
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสฝุ่น ควัน ควันบุหรี่ มลพิษทางอากาศ
- หมั่นทำความสะอาดบ้านให้สะอาด ปราศจากฝุ่น
- อยู่ในห้องที่มีอากาศบริสุทธิ์จากการใช้เครื่องฟอกอากาศ
1. ผู้ป่วยควรใช้ยาหยอดตาสเตียรอยด์บรรเทาอาการเป็นครั้งคราวตามที่แพทย์แนะนำเท่านั้น ห้ามใช้พร่ำเพรื่อหรือติดต่อกันนาน ๆ อาจทำให้เป็นต้อหินเรื้อรัง หรือการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนได้
2. การนำยาหยอดตาสเตียรอยด์ที่รักษาโรคนี้ไปใช้รักษาเยื่อตาขาวอักเสบจากการติดเชื้อ อาจทำให้การอักเสบลุกลามเป็นอันตรายต่อกระจกตาดำได้ ดังนั้นจึงไม่ควรให้คนอื่นหยิบยืมยาหยอดตาไปใช้รักษาโรคตาอักเสบกันเอง