ไส้ติ่งอักเสบ เป็นโรคที่พบได้บ่อยที่สุดในผู้ป่วยที่มีอาการปวดท้องรุนแรงที่ต้องผ่าตัด หากพบมีอาการปวดเจ็บตรงท้องน้อยข้างขวา ควรนึกถึงโรคนี้ไว้ก่อนเสมอ เป็นโรคที่พบได้บ่อยในคนทุกวัย พบมากในช่วงอายุ 10-30 ปี พบได้น้อยในเด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี (เนื่องจากโคนไส้ติ่งค่อนข้างกว้าง) และในผู้สูงอายุ (เนื่องจากไส้ติ่งตีบแฟบมีเนื้อเยื่อหลงเหลือน้อย) พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงเล็กน้อย คาดประมาณว่าในชั่วชีวิตของคนเรามีโอกาสเป็นโรคนี้ร้อยละ 7 หรือในปี ๆ หนึ่งมีผู้ป่วยโรคนี้ประมาณ 1 ใน 1,000 คน
ไส้ติ่งอักเสบ (Appendicitis)
ข้อมูลโดย รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ อดีตอาจารย์คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
ไส้ติ่งอักเสบ (Appendicitis) ข้อมูลโรค พร้อมโปรแกรมตรวจอาการเบื้องต้น
ไส้ติ่งอักเสบ (Appendicitis) อาการ สาเหตุ การป้องกันและรักษา พร้อมโปรแกรม “หมอประจำบ้าน” อัจฉริยะ Doctor at Home ตรวจอาการเบื้องต้นด้วยตัวเอง
สาเหตุ
สาเหตุสำคัญคือ เกิดจากภาวะอุดกั้นของรูไส้ติ่ง* ที่พบบ่อยที่สุดคือจากเศษอุจจาระแข็ง ๆ ซึ่งเรียกว่า นิ่วอุจจาระ (fecalith) ตกลงไปในรูไส้ติ่ง นอกนั้นอาจเกิดจากสิ่งแปลกปลอม (เช่น เมล็ดผลไม้) เนื้อเยื่อน้ำเหลือง (lymphoid tissue) ของไส้ติ่งที่โตขึ้น หนอนพยาธิ (ที่สำคัญคือ พยาธิไส้เดือน) เนื้องอก เมื่อเกิดการอุดกั้นสิ่งคัดหลั่งที่ไส้ติ่งหลั่งอยู่เป็นปกติก็จะเกิดการคั่งอยู่ในรูไส้ติ่ง ทำให้ไส้ติ่งบวมและมีแรงดันภายในไส้ติ่งสูงขึ้น ประกอบกับการบีบขับของไส้ติ่ง ทำให้เกิดอาการปวดท้องรอบ ๆ สะดือ ขณะเดียวกันเชื้อแบคทีเรียที่มีอยู่เป็นปกติวิสัยในรูไส้ติ่งจะมีการแบ่งตัวอย่างรวดเร็ว รุกล้ำเข้าไปในเนื้อเยื่อของไส้ติ่ง ทำให้เกิดการอักเสบรุนแรงตามมา ผู้ป่วยจะมีอาการปวดเจ็บตรงท้องน้อยข้างขวาและในที่สุดเนื้อไส้ติ่งเกิดการเน่าตายและแตกทะลุได้
บางรายอาจเป็นไส้ติ่งอักเสบจากเชื้อไวรัสไซโตเมกาโล (cytomegalovirus) ซึ่งมักพบในผู้ป่วยเอดส์
บางรายอาจเป็นไส้ติ่งอักเสบโดยไม่ทราบสาเหตุก็ได้
*ไส้ติ่ง (vermiform appendix) เป็นส่วนของลำไส้ยาวประมาณ 3-4 นิ้ว ที่ยื่นออกมาจากกระพุ้งไส้ใหญ่ (cecum) อยู่ตรงบริเวณท้องน้อยข้างขวา ภายในมีรูติดต่อกับลำไส้ใหญ่ส่วนต้น ถือเป็นส่วนหนึ่งของลำไส้ใหญ่ที่ฝ่อตัวลงและไม่ได้ทำหน้าที่ในการย่อยและดูดซึมอาหาร เนื่องจากเป็นท่อขนาดเล็กปลายตัน เมื่อเกิดการอักเสบจะทำให้เนื้อผนังไส้ติ่งเน่าตายและเป็นรูทะลุในเวลารวดเร็วได้
อาการ
ลักษณะโดดเด่น คือ มีอาการปวดท้องที่มีลักษณะต่อเนื่องและปวดแรงขึ้นนานเกิน 6 ชั่วโมงขึ้นไป ถ้าไม่ได้รับการรักษาก็มักจะปวดอยู่หลายวัน จนผู้ป่วยทนไม่ไหวต้องนำส่งโรงพยาบาล
แรกเริ่มอาจปวดแน่นตรงลิ้นปี่คล้ายโรคกระเพาะหรือปวดบิดเป็นพัก ๆ รอบ ๆ สะดือคล้ายอาการท้องเดิน อาจเข้าส้วมบ่อยแต่ถ่ายไม่ออก (บางรายอาจสวนด้วยยาถ่ายเอง) แต่บางรายอาจมีอาการถ่ายเป็นน้ำหรือถ่ายเหลวร่วมด้วย
ผู้ป่วยมักมีอาการเบื่ออาหารร่วมด้วยเสมอ ถ้าผู้ป่วยไม่มีอาการเบื่ออาหารเลย อาจต้องคิดถึงสาเหตุอื่น
ผู้ป่วยมักมีอาการอาเจียนตามหลังอาการปวดท้อง (อาจมีอาการคลื่นไส้ก่อนปวดท้องได้) ซึ่งมักเป็นเพียง 1-2 ครั้ง ถ้าผู้ป่วยมีอาการอาเจียนก่อนปวดท้อง อาจไม่ใช่ไส้ติ่งอักเสบ
อาการปวดท้องมักจะเป็นอย่างต่อเนื่อง แม้จะกินยาแก้ปวดก็ไม่ทุเลา
ต่อมาอีก 4-6 ชั่วโมง อาการปวดจะย้ายมาที่ท้องน้อยข้างขวา ลักษณะปวดเสียดตลอดเวลา และจะเจ็บมากขึ้นเมื่อมีการขยับเขยื้อนตัว หรือเวลาเดิน หรือไอ จาม ต้องนอนนิ่ง ๆ บางรายถ้าเป็นมากต้องนอนงอขาและตะแคงไปข้างหนึ่ง หรือเวลาเดินต้องเดินตัวงอจึงจะรู้สึกสบายขึ้น
บางรายอาจรู้สึกครั่นเนื้อครั่นตัวหรือมีไข้ต่ำ ๆ
ประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยไส้ติ่งอักเสบอาจไม่มีอาการตามแบบฉบับดังกล่าว อาจมีอาการปวดที่ท้องน้อยข้างขวาโดยไม่มีอาการอื่นนำมาก่อนเลยก็ได้
ในเด็กลักษณะอาการอาจไม่แน่นอนหรือชัดเจนแบบผู้ใหญ่ เช่น อาจกดเจ็บทั่วท้อง (ไม่จำกัดอยู่ตรงเฉพาะท้องน้อยข้างขวา) อาจมีไข้และปวดท้องโดยไม่มีอาการกดเจ็บชัดเจน เป็นต้น
ในผู้สูงอายุและหญิงตั้งครรภ์ อาการปวดท้องอาจเป็นไม่รุนแรง และอาจมีอาการไม่ชัดเจน ทำให้ได้รับการรักษาล่าช้าจนเกิดภาวะแทรกซ้อนได้
ภาวะแทรกซ้อน
ถ้าไม่ได้รับการรักษา ไส้ติ่งจะกลายเป็นเนื้อเน่าจนแตกลุกลามไปทั่วท้อง กลายเป็นเยื่อบุช่องท้องอักเสบ และโลหิตเป็นพิษ เป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ หรือไม่ก็อาจกลายเป็นก้อนฝีของไส้ติ่ง ภาวะไส้ติ่งเน่าแล้วแตกนี้อาจเกิดขึ้นภายใน 24-36 ชั่วโมงหลังการอักเสบ
ภาวะแทรกซ้อนมักพบในเด็กเล็ก คนชรา และผู้ป่วยเบาหวาน คนชราที่เป็นไส้ติ่งอักเสบมีอัตราตายสูงถึงร้อยละ 15
การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการและสิ่งตรวจพบ ดังนี้
ไข้ต่ำ ๆ (37.5-38 องศาเซลเซียส มักไม่เกิน 38.5 องศาเซลเซียส) แต่บางรายอาจไม่มีไข้
ที่สำคัญ คือ การตรวจพบอาการกดเจ็บตรงท้องน้อยข้างขวา โดยเฉพาะตรงจุดไส้ติ่งหรือจุดแม็กเบอร์เนย์ (Macburney point)
ถ้าใช้มือค่อย ๆ กดตรงบริเวณนั้นลึก ๆ แล้วปล่อยมือให้ผนังหน้าท้องกระเด้งกลับทันที ผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บมาก เรียกว่า อาการกดปล่อยแล้วเจ็บ (rebound tenderness) ซึ่งแสดงว่าเริ่มมีการอักเสบของเยื่อบุช่องท้องในบริเวณนั้น
อาจพบว่าผู้ป่วยรู้สึกเจ็บปวดที่ท้องน้อยข้างขวา เมื่อผู้ตรวจใช้มือกดตรงท้องน้อยข้างซ้าย (เรียกว่า Rovsing’s sign)
ถ้าไส้ติ่งแตก จะมีอาการปวดเจ็บทั่วบริเวณท้องน้อย ท้องแข็ง อาจคลำได้ก้อน และไข้สูง
แพทย์จะทำการตรวจทางทวารหนักโดยผู้ตรวจสวมถุงมือ แล้วใช้นิ้วชี้สอดเข้าทวารหนักของผู้ป่วย หากปลายนิ้วแหย่ถูกปลายไส้ติ่งจะมีอาการเจ็บมาก ซึ่งเพิ่มน้ำหนักของการวินิจฉัย
ในรายที่ต้องการยืนยันให้แน่ชัด หรือต้องการแยกจากโรคอื่น อาจต้องทำการตรวจเพิ่มเติม เช่น ตรวจเลือด (ในผู้ป่วยไส้ติ่งอักเสบจะพบว่ามีจำนวนเม็ดเลือดขาวสูงกว่าปกติ) ตรวจปัสสาวะ (หากตัวไส้ติ่งอยู่ใกล้ท่อไตหรือกระเพาะปัสสาวะอาจพบเม็ดเลือดแดงและเม็ดเลือดขาวมากกว่าปกติ) เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ อัลตราซาวนด์ (อาจพบไส้ติ่งที่อักเสบบวม หรือก้อนฝีรอบ ๆ ไส้ติ่ง) เป็นต้น
การรักษาโดยแพทย์
หากสงสัยแพทย์จะรับตัวไว้ในโรงพยาบาลและให้การรักษาด้วยการผ่าตัดไส้ติ่งอย่างเร่งด่วน แพทย์จะฉีดยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้อหลังการผ่าตัด โดยเริ่มฉีดตั้งแต่ก่อนลงมือผ่าตัด ผู้ป่วยที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อนมักจะพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลประมาณ 2-5 วัน และมักหายดีโดยไม่มีภาวะแทรกซ้อนแต่อย่างใด
ในรายที่มีภาวะแทรกซ้อน เช่น ไส้ติ่งแตก มักมีความยุ่งยากในการรักษา และต้องพักรักษาในโรงพยาบาลนานเป็นสัปดาห์ ๆ
การดูแลตนเอง
หากสงสัย เช่น มีอาการปวดท้องรุนแรง ปวดท้องต่อเนื่องนานเกิน 6 ชั่วโมง หรือ รู้สึกปวดและเวลากดถูกหรือเดินกระเทือนถูก รู้สึกเจ็บตรงบริเวณท้องน้อยข้างขวา ควรปรึกษาแพทย์โดยเร็ว
เมื่อตรวจพบว่าเป็นไส้ติ่งอักเสบ ควรดูแลรักษาและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ และติดตามการรักษากับแพทย์ตามนัด
ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินที่บ้าน ถ้ากินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา (เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม คลื่นไส้ อาเจียน หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ) ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด
การป้องกัน
โรคนี้ยังไม่มีวิธีป้องกันที่ได้ผล
ทางที่ดีเมื่อมีอาการปวดท้องที่สงสัยว่าจะเป็นไส้ติ่งอักเสบ ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว การได้รับการรักษาตั้งแต่ระยะแรกเริ่มจะช่วยให้หายเร็วและลดภาวะแทรกซ้อนได้
ข้อแนะนำ
1. ไส้ติ่งอักเสบ ถือเป็นภาวะร้ายแรงที่ต้องได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัดฉุกเฉิน การรักษาทางยาไม่ว่ายากินหรือยาฉีด อาจระงับอาการได้ชั่วคราว และถ้าปล่อยไว้จนไส้ติ่งแตก ก็จะทำให้เกิดความยุ่งยากในการรักษา อาจมีการติดเชื้อของแผลผ่าตัด เสียเงิน เสียเวลาอยู่โรงพยาบาล และเสี่ยงอันตรายมากขึ้น (มีอัตราตายร้อยละ 3 ในขณะที่ไส้ติ่งอักเสบที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อนมีอัตราตายต่ำกว่าร้อยละ 0.1)
2. อาการปวดท้องน้อยข้างขวา นอกจากไส้ติ่งอักเสบแล้ว ยังอาจมีสาเหตุอื่น เช่น นิ่วท่อไต ปีกมดลูกอักเสบ ปวดประจำเดือน ครรภ์นอกมดลูก เป็นต้น ซึ่งจะมีลักษณะอาการแตกต่างกันไป
อย่างไรก็ตามให้ยึดหลักว่า หากมีอาการปวดท้องติดต่อกันนานเกิน 6 ชั่วโมง หรือขยับเขยื้อนตัวหรือเอามือกดแล้วรู้สึกเจ็บตรงบริเวณท้องน้อยข้างขวา ไม่ว่าจะมีไข้หรือไม่ก็ตามควรสงสัยเป็นไส้ติ่งอักเสบหรือภาวะร้ายแรงอื่น ๆ และต้องรีบไปพบแพทย์ที่อยู่ใกล้บ้านทันที อย่าคิดว่าเป็นเพียงอาการปวดท้องธรรมดา เช่น ปวดประจำเดือนซึ่งอาจเคยเป็นอยู่ประจำ
3. ผู้ป่วยโรคนี้อาจมีอาการต่าง ๆ กันไปได้หลายแบบ มากกว่าครึ่งหนึ่งที่อาจไม่มีอาการปวดท้องรอบ ๆ สะดือนำมาก่อน บางรายอาจมีอาการปวดท้องร่วมกับท้องผูกหรือท้องเดินก็ได้ บางรายอาการปวดเจ็บท้องอาจอยู่นอกตำแหน่งท้องน้อยข้างขวา เนื่องจากไส้ติ่งอยู่ในตำแหน่งที่ผิดไปจากปกติ
ถ้ารู้สึกปวดท้องอยากถ่ายบ่อย ๆ แต่ถ่ายไม่ออกอย่านึกว่าเป็นอาการท้องผูกธรรมดา และห้ามทำการสวนอุจจาระหรือให้ยาระบาย เพราะอาจทำให้ไส้ติ่งแตกได้
ในระยะแรกผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการปวดตรงใต้ลิ้นปี่หรือรอบ ๆ สะดือคล้ายอาการของโรคกระเพาะจึงควรเฝ้าสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด หากกินยาแก้โรคกระเพาะแล้วไม่ทุเลา กลับปวดรุนแรงขึ้น หรือย้ายมาปวดตรงท้องน้อยข้างขวา ก็ควรนึกถึงไส้ติ่งอักเสบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีอาการปวดท้องต่อเนื่องเกิน 6 ชั่วโมง
4. ผู้ป่วยไส้ติ่งอักเสบมักมีไข้ต่ำ ๆ หรือไม่มีไข้ ถ้าพบว่ามีไข้สูงอาจเกิดจากไส้ติ่งแตก หรืออาจเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ เช่น ไทฟอยด์ ปีกมดลูกอักเสบ กรวยไตอักเสบเฉียบพลัน
5. วิธีตรวจดูอาการไส้ติ่งอักเสบอย่างง่าย ๆ ก็คือการใช้นิ้วมือกดเบา ๆ ตรงท้องน้อยข้างขวา ถ้าพบว่ามีอาการเจ็บปวดตรงบริเวณนั้นมาก ก็พึงสงสัยว่าเป็นไส้ติ่งอักเสบ ดังนั้น ควรใช้วิธีนี้ตรวจดูผู้ที่มีอาการปวดท้องหรือท้องเดินทุกราย
ข้อมูลล่าสุด : 10 ก.พ. 2565
Smart Doctor© โปรแกรม "หมอประจำบ้าน" อัจฉริยะ
โปรดเลือกอาการที่เป็นสัญญาณของ "ไส้ติ่งอักเสบ (Appendicitis)" เพื่อตรวจอาการเบื้องต้น ก่อนไปพบแพทย์
Smart Doctor© โปรแกรม "หมอประจำบ้าน" อัจฉริยะ
โปรดเลือกอาการที่เป็นสัญญาณของ "ไส้ติ่งอักเสบ (Appendicitis)" เพื่อตรวจอาการเบื้องต้น ก่อนไปพบแพทย์