
เลือดกำเดา (เลือดออกจากจมูก) เกิดจากหลอดเลือดฝอยที่บริเวณเยื่อจมูกมีการแตกทำลาย ทำให้มีเลือดไหลออกทางจมูก
ส่วนมากมักเกิดขึ้นฉับพลัน และมักออกเพียงข้างเดียว บางรายอาจออกทั้ง 2 ข้าง บางรายอาจมีอาการเป็น ๆ หาย ๆ บ่อย พบได้บ่อยในคนทุกวัย ส่วนมากจะไม่มีอันตรายร้ายแรง และหายได้เอง
สาเหตุ
โดยมากมักไม่มีสาเหตุร้ายแรง ซึ่งจะมีเลือดออกเพียงเล็กน้อยและหยุดได้เอง เช่น เกิดจากไข้หวัด หวัดภูมิแพ้ ไซนัสอักเสบ เยื่อจมูกอักเสบ หลอดเลือดฝอยเปราะเนื่องจากอากาศแห้ง (เช่น ในฤดูหนาว) การแคะจมูกแรง ๆ เป็นต้น
บางรายอาจเกิดจากได้รับบาดเจ็บ เช่น ถูกแรงกระแทกที่ดั้งจมูก
ผู้ป่วยที่เป็นความดันโลหิตสูง บางครั้งก็อาจมีเลือดกำเดาไหล
บางครั้งก็อาจพบร่วมกับโรคติดเชื้อ เช่น ไข้หวัดใหญ่ มาลาเรีย ไทฟอยด์ ไข้เลือดออก คอตีบ เป็นต้น
ส่วนน้อยอาจมีสาเหตุร้ายแรง เช่น โรคเลือด ได้แก่ มะเร็งเม็ดเลือดขาว โลหิตจางจากไขกระดูกฝ่อ ไอทีพี เป็นต้น ซึ่งมักมีเลือดออกตามไรฟัน มีจ้ำเขียวขึ้นตามตัว อาจมีไข้ หรือตับโตม้ามโตร่วมด้วย
ในผู้ใหญ่ที่มีเลือดกำเดาไหลบ่อยร่วมกับอาการคัดจมูก หูอื้อหรือมีก้อนบวมที่ข้างคอ อาจเกิดจากมะเร็ง หรือเนื้องอกในจมูกหรือโพรงหลังจมูก
อาการ
มีเลือดสด ๆ ไหลออกทางรูจมูก
ภาวะแทรกซ้อน
ถ้าออกมากอาจทำให้เกิดภาวะซีดได้ ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นค่อนข้างน้อย
การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการเป็นหลัก
การตรวจร่างกายอาจพบเลือดกำเดาไหล หรือจุดเลือดออกที่เยื่อจมูก อาจพบความผิดปกติของโรคที่เป็นสาเหตุ เช่น ไข้หวัด ไข้เลือดออก ความดันโลหิตสูง โรคเลือด
การรักษาโดยแพทย์
แพทย์จะให้การดูแลรักษาดังนี้
1. ให้การปฐมพยาบาลโดยให้ผู้ป่วยเงยหน้าขึ้นหรือก้มหน้าลงมาก ๆ ใช้นิ้วมือบีบ (กด) ปีกจมูกทั้ง 2 ข้างให้แน่นเป็นเวลา 5-10 นาที บอกให้ผู้ป่วยหายใจทางปากแทน
ส่วนมากมักจะได้ผลโดยวิธีดังกล่าว ถ้าไม่ได้ผลให้ทำซ้ำอีกครั้งนาน 10 นาที
ถ้าเลือดยังไม่หยุด ให้ใช้ผ้าก๊อซหรือผ้าสะอาดชิ้นเล็ก ๆ ชุบอะดรีนาลิน ขนาด 1:1,000 ให้ชุ่มสอดเข้าในรูจมูกข้างที่มีเลือดออก ยัดให้แน่น ยานี้จะช่วยให้หลอดเลือดฝอยตีบลงและเลือดหยุดได้ ควรยัดผ้าก๊อซไว้นาน 2-3 ชั่วโมง เมื่อแน่ใจว่าเลือดหยุดดีแล้วจึงค่อย ๆ ดึงออก
ในรายที่เลือดออกไม่หยุด อาจต้องรักษาโดยการจี้ด้วยไฟฟ้า (electrocautery)
2. แพทย์จะทำการตรวจหาสาเหตุ เช่น ตรวจวัดไข้ ความดันโลหิต คลำตับม้าม ดูรอยจ้ำเขียวตามตัว เป็นต้น ถ้าพบสาเหตุที่แน่ชัด จะทำการรักษาโรคที่เป็นสาเหตุ เช่น ความดันโลหิตสูง ไข้หวัดใหญ่ เยื่อจมูกอักเสบ ไซนัสอักเสบ โรคทางเลือด เป็นต้น
3. ในรายที่เลือดออกไม่หยุด หรือเป็นเรื้อรัง ซึ่งสงสัยว่าอาจมีสาเหตุที่ร้ายแรง (เช่น มะเร็งจมูกหรือโพรงหลังจมูก มะเร็งเม็ดเลือดขาว) แพทย์จะทำการตรวจพิเศษเพิ่มเติม (เช่น ตรวจเลือด เจาะไขสันหลัง ใช้กล้องส่องตรวจจมูก หรือโพรงหลังจมูก ตรวจชิ้นเนื้อ เอกซเรย์ ถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เป็นต้น) และให้การรักษาตามสาเหตุที่พบ

การดูแลตนเอง
1. เมื่อมีเลือดกำเดาไหล ควรทำการปฐมพยาบาล โดยให้ผู้ป่วยเงยหน้าขึ้น หรือก้มหน้าลงมาก ๆ ใช้นิ้วบีบปีกจมูกทั้ง 2 ข้าง เป็นเวลา 5-10 นาที บอกให้ผู้ป่วยหายใจทางปากแทนจมูก
ถ้าไม่ได้ผล ทำซ้ำอีกครั้ง นาน 10 นาที
2. ถ้าไม่ได้ผล หรือเป็น ๆ หาย ๆ บ่อย ควรปรึกษาแพทย์
3. ดูแลรักษาตามคำแนะนำของแพทย์
4. ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินที่บ้าน ถ้ากินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา (เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม คลื่นไส้ อาเจียน หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ) ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด
การป้องกัน
ส่วนใหญ่ไม่มีวิธีป้องกัน เนื่องจากเลือดกำเดาอาจเกิดจากสาเหตุได้หลากหลาย ซึ่งมีความรุนแรงต่าง ๆ กันไป
ในรายที่เกิดจากสาเหตุที่ป้องกันได้ เช่น ไข้หวัด ไซนัสอักเสบ ความดันโลหิตสูง เป็นต้น ก็ควรดูแลรักษาโรคเหล่านี้ให้ถูกต้อง
ข้อแนะนำ
เลือดกำเดาอาจเกิดจากสาเหตุได้หลากหลาย ซึ่งมีความรุนแรง วิธีรักษา วิธีป้องกันต่าง ๆ กันไป
ผู้ที่มีเลือดกำเดาไหลนานหรือรุนแรง หรือเป็น ๆ หาย ๆ บ่อย ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ (ตรวจอาการเลือดกำเดาไหล)