แพทย์จะให้การดูแลรักษา ดังนี้
1. ให้การรักษาตามอาการ เช่น ถ้าปวดหรือมีไข้ให้ยาแก้ปวดลดไข้ ถ้าคัดจมูกมากให้ยาแก้คัดจมูก อาจช่วยลดการบวมของเนื้อเยื่อที่อักเสบ และช่วยระบายหนองออกจากไซนัส
ส่วนยาแก้แพ้จะไม่ให้ เพราะอาจทำให้เมือกในโพรงไซนัสเหนียว ระบายออกได้ไม่ดี ยกเว้นในรายที่มีอาการของภูมิแพ้มาก เช่น จาม น้ำมูกมาก อาจให้เพียง 2-3 วันเพื่อบรรเทาอาการ
แนะนำให้ผู้ป่วยดื่มน้ำมาก ๆ สูดดมไอน้ำอุ่น และล้างจมูกด้วยน้ำเกลือนอร์มัลบ่อย ๆ เพื่อช่วยระบายหนอง
2. ในรายที่เกิดจากแบคทีเรีย (น้ำมูกหรือเสมหะเป็นหนอง ปวดใบหน้า หายใจมีกลิ่นเหม็น หรือความรู้สึกในการรับรู้กลิ่นลดลง) ให้ยาปฏิชีวนะ เช่น อะม็อกซีซิลลิน, อีริโทรไมซิน หรือร็อกซิโทรไมซิน เป็นต้น
ถ้าพบว่ามีปัญหาเชื้อดื้อต่อยาปฏิชีวนะพื้นฐานดังกล่าว (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรายที่มีการใช้ยาชนิดเดิมซ้ำหลายครั้ง) ก็จะเปลี่ยนไปใช้ยาปฏิชีวนะกลุ่มใหม่ เช่น โคอะม็อกซิคลาฟ, ดอกซีไซคลีน, ไซโพรฟล็อกซาซิน, อะซิโทรไมซิน (azithromycin)} หรือเซฟูร็อกไซม์ (cefuroxime) เป็นต้น
ในรายที่เป็นเฉียบพลัน ให้กินติดต่อกันนาน 10-14 วัน ในรายที่เป็นเรื้อรังให้นานอย่างน้อย 3-4 สัปดาห์ บางรายอาจนานถึง 12 สัปดาห์
ถ้ามีอาการรุนแรงหรือไม่ตอบสนองต่อยา แพทย์อาจทำการเจาะล้างโพรงไซนัส (antral irrigation)
ในรายที่เป็นเรื้อรัง จำเป็นต้องตรวจหาปัจจัยที่เป็นสาเหตุและให้การรักษา เช่น โรคหวัดภูมิแพ้ โรคกรดไหลย้อน ติ่งเนื้อเมือกจมูก ผนังกั้นจมูกคด โรคทางทันตกรรม ภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ (เช่น เบาหวาน เอดส์) เป็นต้น
แพทย์จะพิจารณาทำการรักษาด้วยการผ่าตัดในรายที่ไม่ตอบสนองต่อยา หรือตรวจพบว่าเกิดจากเชื้อรา* หรือมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนทางตาหรือสมอง การผ่าตัดมีหลายวิธี รวมทั้งการผ่าตัดโดยวิธีส่องกล้องเข้าไปในโพรงไซนัส (endoscopic sinus surgery)
ผลการรักษา ในรายที่เป็นเฉียบพลัน หากได้รับการรักษาอย่างถูกต้องตั้งแต่แรกมักจะได้ผลดี ส่วนในรายที่เป็นเรื้อรัง ผลการรักษาขึ้นกับการได้รับการรักษาอย่างถูกต้องตั้งแต่แรกและการแก้ไขสาเหตุที่พบ ในรายที่จำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัด มักจะได้ผลดีในการบรรเทาอาการและป้องกันภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง