
วัณโรคปอด หรือ ทีบี (TB ซึ่งย่อมาจาก tuberculosis) หรือโบราณเรียกว่าฝีในท้อง เป็นโรคติดเชื้อเรื้อรังของปอดที่สามารถแพร่ให้คนที่อยู่ใกล้ชิดได้ จัดว่าเป็นโรคติดต่อที่พบได้บ่อยชนิดหนึ่ง พบมากในผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเอดส์ และผู้ที่มีภูมิต้านทานโรคต่ำ มักพบในคนที่ฐานะยากจน หรืออยู่กันอย่างแออัด
ในปัจจุบัน พบว่าวัณโรคกลับมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น มีความร้ายแรงมากขึ้น และมีการดื้อยามากขึ้น
สาเหตุ
เกิดจากเชื้อวัณโรค ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่มีชื่อว่า ไมโคแบคทีเรียมทูเบอร์คูโลซิส (Mycobacterium tuberculosis) บางครั้งเรียกว่า เชื้อเอเอฟบี (AFB ซึ่งย่อมาจาก acid fast bacilli)
วัณโรคปอดส่วนมากติดต่อโดยการหายใจสูดเอาฝอยละอองเสมหะที่ผู้ป่วยปล่อยออกมาแขวนลอยอยู่ในอากาศขณะไอ จาม พูด หัวเราะ หรือร้องเพลง และแพร่กระจายทางอากาศ (airborne transmission) โดยเชื้อในฝอยละอองเสมหะสามารถมีชีวิตอยู่ในอากาศนานหลายชั่วโมง เมื่อคนอื่นสูดเอาอากาศที่มีฝอยละอองนี้เข้าไป โดยไม่จำเป็นต้องไอหรือจามรดใส่กันตรง ๆ ก็สามารถติดเชื้อได้
ผู้ที่จะรับเชื้อให้ได้ปริมาณมากพอจนถึงขั้นติดเชื้อเป็นโรคได้ จะต้องอยู่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยเป็นเวลายาวนาน เช่น อยู่ในห้องเดียวกัน อยู่ในบ้านเดียวกัน
ส่วนการติดต่อโดยทางอื่นนับว่ามีโอกาสน้อยมากที่อาจพบได้ ก็คือ การที่เด็กดื่มนมวัวที่ได้จากวัวที่เป็นวัณโรคจากเชื้ออีกสายพันธุ์หนึ่งที่มีชื่อว่า Mycobacterium bovis โดยไม่ผ่านกรรมวิธีฆ่าเชื้ออย่างถูกต้อง
หลังติดเชื้อ 2-8 สัปดาห์ ร่างกายจะเกิดกระบวนการสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมา คนส่วนหนึ่งสามารถกำจัดเชื้อได้หมดก็ไม่เป็นโรค
ส่วนหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กเล็ก ไม่สามารถกำจัดเชื้อได้ ก็กลายเป็นโรคภายหลังติดเชื้อไม่นาน
ส่วนหนึ่งกำจัดเชื้อได้ไม่หมด เชื้อที่เหลือจะหลบซ่อนอยู่ในปอด และอวัยวะต่าง ๆ อย่างสงบ (บางรายเชื้ออาจแพร่กระจายจากปอดไปตามกระแสเลือด แล้วเข้าไปฝังตัวอยู่ในอวัยวะต่าง ๆ) โดยไม่มีอาการเจ็บป่วยเกิดขึ้นเรียกว่า การติดเชื้อวัณโรคแฝง (latent TB infection) ประมาณร้อยละ 10 ของคนกลุ่มนี้จะกลายเป็นวัณโรคในระยะต่อมา ซึ่งกว่าครึ่งหนึ่งจะเกิดอาการของโรคขึ้นมาภายใน 2 ปี หลังติดเชื้อ บางรายอาจกลายเป็นโรคในระยะหลายปีหรือนับเป็นสิบ ๆ ปีต่อมา ทั้งนี้เกี่ยวข้องกับภาวะภูมิคุ้มกันของร่างกาย กล่าวคือ ตราบใดที่ภูมิคุ้มกันยังแข็งแรงก็จะไม่เกิดโรคขึ้นมา แต่เมื่อใดที่ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เชื้อที่หลบซ่อนอยู่ก็จะเกิดการแบ่งตัวเพิ่มจำนวน เรียกว่า การปลุกฤทธิ์คืน (reactivation) จนทำให้เกิดเป็นวัณโรคขึ้นได้
ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้ ได้แก่
- ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ ที่พบบ่อย คือ ผู้ป่วยเอดส์ (มีโอกาสเป็นวัณโรคในตลอดช่วงถึงร้อยละ 50 หรือ มากกว่าร้อยละ 10 ต่อปี) เบาหวาน ไตวาย ผู้ที่กินยาสเตียรอยด์นาน ๆ หรือใช้ยาเคมีบำบัด ผู้ป่วยติดเชื้อบางชนิด (เช่น หัด ไอกรน ไข้หวัดใหญ่ เป็นต้น) ผู้ที่ตรากตรำงานหนักหรือมีความเครียดสูง
- ผู้ติดยาเสพติดหรือแอลกอฮอล์
- ผู้ที่มีภาวะขาดอาหาร คนจรจัด
- ผู้ที่อยู่ในสถานที่แออัด การระบายอากาศไม่ดี เช่น เรือนจำ ศูนย์อพยพ เป็นต้น
- ผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยเป็นระยะยาวนาน เช่น สมาชิกในบ้านผู้ป่วย เพื่อนร่วมห้องพักหรือห้องทำงาน
- บุคลากรสาธารณสุขที่ให้การดูแลพยาบาลผู้ป่วย
- ผู้สูงอายุ (พบอุบัติการณ์สูงในกลุ่มอายุมากกว่า 65ปี)
- ทารกแรกเกิด

อาการ
ที่สำคัญ คือ อาการไข้และไอเรื้อรังนานเป็นสัปดาห์ ๆ ถึงเป็นแรมเดือน
แรกเริ่มผู้ป่วยจะมีอาการคล้ายไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ หรือหลอดลมอักเสบ โดยมีอาการไอเป็นหลัก ระยะแรกเป็นลักษณะไอแห้ง ๆ ต่อมาจะไอมีเสมหะเป็นสีเหลืองหรือเขียว มักมีอาการครั่นเนื้อครั่นตัว มีไข้ต่ำ ๆ ตอนบ่าย ๆ อ่อนเพลีย เบื่ออาหารร่วมด้วย อาจมีอาการเหงื่อออกตอนกลางคืน บางครั้งอาจออกมากจนโชกเสื้อผ้าและที่นอน ผู้ป่วยมักซื้อยาหรือหาหมอรักษาแต่อาการไม่ทุเลา จะมีอาการต่อเนื่องนาน 2-3 สัปดาห์ หรือเป็นแรมเดือน ผู้ป่วยจะมีอาการไอถี่ขึ้น อ่อนเพลีย เบื่ออาหารมากขึ้น น้ำหนักตัวลดอย่างรวดเร็ว
ผู้ป่วยอาจมีอาการไอออกมาเป็นเลือดสีแดง ๆ หรือดำ ๆ ซึ่งมักจะออกปริมาณไม่มาก มีน้อยรายมากที่อาจมีเลือดออกมากจนซีด หรือเป็นลม หน้ามืด มือเท้าเย็น
บางรายอาจมีอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก หรือหอบเหนื่อยง่าย หรือเจ็บหน้าอกเวลาหายใจเข้าลึก ๆ เนื่องจากมีภาวะมีน้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอด เยื่อหุ้มปอดอักเสบ หรือโรคลุกลามไปทั่วปอด
บางรายอาจมีอาการไข้นานเป็นแรมเดือน โดยไม่มีอาการไอหรืออาการอื่น ๆ ชัดเจนก็ได้
ในรายที่เป็นวัณโรคปอดเพียงเล็กน้อย อาจไม่มีอาการอะไรเลย และมักตรวจพบโดยบังเอิญจากการเห็น "จุด" ในปอดจากภาพถ่ายรังสี (ภาพเอกซเรย์)
ภาวะแทรกซ้อน
โรคที่เกิดในปอด อาจลุกลามจนกลายเป็นภาวะมีน้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอด ภาวะมีลมในโพรงเยื่อหุ้มปอด ถุงลมปอดโป่งพอง ฝีปอด (lung abscess) ไอออกเป็นเลือดมากถึงช็อก
เชื้อวัณโรคยังอาจแพร่กระจายผ่านกระแสเลือดไปทั่วร่างกาย กลายเป็นวัณโรคของอวัยวะต่าง ๆ ซึ่งอาจพบร่วมกับวัณโรคปอดหรือไม่ก็ได้ เช่น
- วัณโรคต่อมน้ำเหลือง พบบ่อยที่ข้างคอ มีลักษณะเป็นก้อนบวมที่ข้างคอ นุ่ม ไม่มีอาการเจ็บปวด อาจแตกมีหนองไหลเรื้อรัง โบราณเรียก ฝีประคำร้อย ไม่มีอาการเจ็บปวด
- เยื่อหุ้มสมองอักเสบจากวัณโรค มีอาการไข้ ปวดศีรษะรุนแรง อาเจียนรุนแรง ซึม ชัก คอแข็ง
- วัณโรคกระดูก เช่น วัณโรคข้อเข่า (มีไข้เรื้อรัง ข้อบวมแดงร้อน) วัณโรคกระดูกสันหลัง (มีอาการปวดหลังเรื้อรัง หลังคดโก่ง กดเจ็บ อาจมีอาการขาอ่อนแรง)
- วัณโรคกล่องเสียง มีอาการเสียงแหบเรื้อรัง
- วัณโรคลำไส้ มีอาการปวดท้องและท้องเดินเรื้อรัง น้ำหนักลด อาจคลำได้ก้อนในท้อง ถ้าลุกลามไปที่เยื่อบุช่องท้องทำให้เกิดอาการท้องมาน
- วัณโรคไต ทำให้กรวยไตอักเสบเรื้อรัง ตรวจพบเม็ดเลือดขาวในปัสสาวะอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะให้ยาปฏิชีวนะ (ที่ไม่ใช่ยารักษาวัณโรค) หลายชนิดแล้วก็ไม่หาย
- วัณโรคเยื่อหุ้มหัวใจ มีอาการไข้ คอบวม หายใจหอบเหนื่อย
- วัณโรคเยื่อหุ้มปอด มีอาการไข้ แน่นหน้าอก เจ็บหน้าอก หายใจหอบเหนื่อย มีน้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอด
นอกจากนี้ ถ้าเกิดในทารกและเด็กเล็ก อาจกลายเป็นวัณโรคชนิดแพร่กระจาย (miliary tuberculosis) ซึ่งจะมีเชื้อปริมาณมากแพร่กระจายตามกระแสเลือดไปทั่วร่างกาย ผู้ป่วยจะมีไข้เป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรัง น้ำหนักลด หายใจลำบาก อาจมีภาวะซีด หรือเลือดออก
การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยเบื้องต้นจากอาการ ประวัติการเจ็บป่วย และการตรวจร่างกาย
มักตรวจพบอาการไข้ 37.5-39 องศาเซลเซียส
การใช้เครื่องฟังตรวจปอด ส่วนใหญ่จะไม่พบเสียงผิดปกติ บางรายอาจได้ยินเสียงกรอบแกรบ (crepitation) บริเวณยอดปอด (ใต้ไหปลาร้า) โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากให้ผู้ป่วยไอแรง ๆ
ในรายที่เป็นเรื้อรังมานานหรือระยะลุกลามมากแล้ว จะพบว่า ผู้ป่วยมีลักษณะซูบผอม อาจซีด หรือหายใจหอบ ใช้เครื่องฟังตรวจปอดอาจได้ยินเสียงกรอบแกรบไปทั่วปอด
ในรายที่มีภาวะมีน้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอด จะตรวจพบว่า ปอดข้างหนึ่งเคาะทึบ และใช้เครื่องฟังตรวจปอดไม่ได้ยินเสียงหายใจ
ในรายที่มีอาการหอบเหนื่อยมานาน จะมีอาการนิ้วปุ้ม (clubbing of fingers)
แพทย์จะทำการวินิจฉัยให้แน่ชัดโดยการเอกซเรย์ปอด และการตรวจเสมหะโดยวิธีย้อมสีแอซิดฟาสต์ (acid fast stain) อย่างน้อย 3 ครั้ง จะวินิจฉัยเป็นวัณโรคปอดเมื่อตรวจเสมหะให้ผลบวก (พบเชื้อวัณโรค) อย่างน้อย 2 ครั้ง หรือตรวจเสมหะให้ผลบวก 1 ครั้ง ร่วมกับมีรอยโรคในปอดจากภาพถ่ายรังสี ถ้าตรวจเสมหะให้ผลลบ (ไม่พบเชื้อวัณโรค) แพทย์จะพิจารณาจากภาพถ่ายรังสีเป็นสำคัญ
บางกรณีอาจต้องทำการทดลองสอบผิวหนังดังที่เรียกว่า การทดสอบทูเบอร์คูลิน (tuberculin test) นำเสมหะไปเพาะหาเชื้อ การตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อวัณโรคโดยเทคนิค PCR (polymerase chain reaction) เป็นต้น
การรักษาโดยแพทย์
นอกจากแนะนำการปฏิบัติตัวสำหรับผู้ป่วยแล้ว แพทย์จะให้การดูแลรักษา ดังนี้
1. ให้ยารักษาวัณโรคหลายชนิดร่วมกัน สำหรับผู้ป่วยใหม่ (เพิ่งรักษาเป็นครั้งแรก) นิยมใช้สูตรยา 6 เดือน โดย 2 เดือนแรกให้ยา 4 ชนิด ได้แก่ ไอเอ็นเอช ไรแฟมพิซิน ไฟราซินาไมด์ และอีแทมบูทอล บางกรณีอาจใช้สเตรปโตไมซินฉีดแทนอีแทมบูทอล แล้วต่อด้วยยา 2 ชนิด อีก 4 เดือน ได้แก่ ไอเอ็นเอชกับไรแฟมพิซิน
2. ให้การรักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้ แก้ไอ ยาบำรุงโลหิตถ้าซีด วิตามินรวมถ้าเบื่ออาหาร เป็นต้น
3. โดยทั่วไปเมื่อใช้ยาได้ผลอาการจะดีขึ้นภายใน 2-4 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม แพทย์จะทำการตรวจเสมหะเพื่อติดตามผลการรักษา เมื่อกินยาครบ 2 เดือน 5 เดือน และเมื่อสิ้นสุดการรักษา (6 เดือน หรือ 9 เดือน แล้วแต่กรณี) บางกรณีอาจตรวจเสมหะทุกเดือนก็ได้
ส่วนการเอกซเรย์ปอดมักให้ตรวจเมื่อกินยาครบ 2 เดือน และเมื่อสิ้นสุดการรักษา
4. ถ้ามีภาวะแทรกซ้อน เช่น ไอออกมาเป็นเลือดปริมาณมาก หายใจหอบเหนื่อย มีภาวะมีน้ำหรือลมในโพรงเยื่อหุ้มปอด มีภาวะขาดอาหารรุนแรง เป็นต้น อาจต้องรับผู้ป่วยไว้รักษาในโรงพยาบาลจนกว่าจะดีขึ้น
5. ถ้าสงสัยเป็นเอดส์ร่วมด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มคนที่มีพฤติกรรมเสี่ยง ควรเจาะเลือดตรวจหาเชื้อเอชไอวี
สำหรับผู้ป่วยวัณโรคปอดที่เป็นเอดส์และกินยาต้านไวรัสเอดส์อยู่ ซึ่งมีข้อควรระวังในการใช้ยาไรแฟมพิซิน จะใช้สูตรยา 9 เดือน โดย 2 เดือนแรกให้ยา 4 ชนิด ได้แก่ ไอเอ็นเอช อีแทมบูทอล สเตรปโตไมซิน และไพราซินาไมด์ และอีก 7 เดือนต่อมาให้ยา 3 ชนิด ได้แก่ ไอเอ็นเอช สเตรปโตไมซิน และไพราซินาไมด์ สัปดาห์ละ 3 ครั้ง
ผลการรักษา ถ้าได้รับยารักษาวัณโรคครบ และดูแลตนเองอย่างจริงจังได้ตามที่แพทย์แนะนำ ก็มักจะหายเป็นปกติได้ส่วนใหญ่ แต่ถ้ากินยาไม่ได้ขนาด หรือกิน ๆ ขาด ๆ ได้ไม่ครบระยะที่แพทย์กำหนด หรือร่างกายอ่อนแอ ภูมิคุ้มกันต่ำ หรือได้รับเชื้อชนิดที่ดื้อต่อยา ก็อาจเป็นเรื้อรัง หรือเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้
การดูแลตนเอง
หากมีอาการที่สงสัยเป็นวัณโรคปอด เช่น มีไข้เรื้อรัง ไอเรื้อรัง เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ไอเป็นเลือด เป็นต้น ควรปรึกษาแพทย์
เมื่อตรวจพบว่าเป็นวัณโรคปอด ควรดูแลตนเอง ดังนี้
1. ปฏิบัติตัวตามที่แพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัด ดังนี้
- ไปพบแพทย์ตามนัด และกินยาให้ครบทุกวันตามที่แพทย์กำหนด
- พักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ
- กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะอาหารพวกโปรตีน (เนื้อ นม ไข่ ถั่วต่าง ๆ)
- งดบุหรี่ แอลกอฮอล์ และยาเสพติด
- จัดบ้านและห้องนอนให้อากาศถ่ายเทได้สะดวกและแสงแดดส่องถึง
- เวลาไอหรือจาม ควรใช้ผ้าหรือกระดาษทิชชูปิดปาก
- ควรบ้วนเสมหะลงในภาชนะหรือกระป๋องที่มีฝาปิดมิดชิด แล้วนำเสมหะไปเผาไฟหรือฝังดิน
- ควรแยกออกห่างจากผู้อื่น เช่น แยกห้องนอน อย่าอยู่ใกล้ชิดกับคนอื่น อย่าเข้าไปในห้างสรรพสินค้า รถโดยสารสาธารณะ สถานบันเทิง ที่ชุมนุมชน และควรแยกถ้วย ชาม สำรับอาหารและเครื่องใช้ออกต่างหาก จนกว่าจะกินยารักษาวัณโรคทุกวันแล้วอย่างน้อย 2 สัปดาห์ และหายไอแล้ว ระหว่างนี้หากจำเป็นต้องเข้าใกล้คนอื่น หรือเข้าไปในที่ชุมนุมชน ควรใช้หน้ากากอนามัยปิดปากและจมูก
- สำหรับแม่ที่เป็นวัณโรคปอด ควรแยกออกห่างจากลูก อย่ากอดจูบลูก และไม่ให้ลูกดูดนมตัวเองจนกว่าจะตรวจไม่พบเชื้อแล้ว
- ผู้ป่วยที่ต้องทำงานกับกลุ่มเสี่ยง (เช่น ผู้ป่วยเอดส์ เด็กเล็ก) ควรอยู่แยกออกห่างจากคนเหล่านี้จนกว่าจะตรวจไม่พบเชื้อแล้ว
2. ถึงแม้อาการจะดีขึ้น (มักเห็นผลหลังกินยาได้ 2 สัปดาห์) และตรวจเสมหะไม่พบเชื้อแล้วก็ตาม ก็ไม่ควรหยุดยาเอง หรือเลิกรักษาต่อเนื่องให้ครบตามที่แพทย์กำหนด เพราะอาจทำให้เชื้อดื้อยา มีความยุ่งยากในการรักษา และเป็นอันตรายมากขึ้น
3. เมื่อมีอาการผิดสังเกต ซึ่งอาจเกิดจากโรคที่เป็น (เช่น ไม่หายไข้ ไม่หายไอ เป็นเลือด หอบเหนื่อยง่าย น้ำหนักลด เป็นต้น) หรือจากผลข้างเคียงของยา (เช่น มีผื่นขึ้น คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย หูอื้อ ตามัว ตาเหลืองตัวเหลือง มีไข้กำเริบขึ้นใหม่ เป็นตัน) ควรรีบกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด
4. ผู้สัมผัสโรค ควรไปพบแพทย์เพื่อหาทางป้องกันไม่ให้เป็นโรคนี้ หรือรับการรักษาถ้าตรวจพบโรคในระยะแรกเริ่ม
การป้องกัน
1. ฉีดวัคซีนบีซีจี (BCG) ซึ่งนิยมฉีดให้ทารกตั้งแต่แรกเกิด วัคซีนชนิดนี้มีประสิทธิผลในการป้องกันวัณโรคชนิดรุนแรง ได้แก่ เยื่อหุ้มสมองอักเสบจากวัณโรค วัณโรคชนิดแพร่กระจาย ซึ่งพบได้บ่อยในเด็กเล็ก แต่อาจป้องกันวัณโรคปอดไม่ได้เต็มที่ ผู้ที่เคยฉีดบีซีจีมาแล้วก็ยังมีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นวัณโรคปอด
2. คนทั่วไปควรรักษาสุภาพให้แข็งแรง โดยการพักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ กินอาหารที่มีประโยชน์ ครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายเป็นประจำ ละเว้นจากการสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์จัด และการใช้ยาเสพติด หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอดส์
3. เมื่อมีผู้ป่วยอยู่ในบ้านเดียวกัน ควรกำชับให้ผู้ป่วยปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์ ช่วงที่ผู้ป่วยกินยารักษาวัณโรคไม่ถึง 2 สัปดาห์ หรือยังไม่หายไอ ควรหลีกเลี่ยงการนอนอยู่ห้องเดียวกับผู้ป่วย ถ้าจำเป็นต้องดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด ควรสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการติดเชื้อ
4. ผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยและผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้ แม้ว่ารู้สึกสบายดีก็ควรไปพบแพทย์ เพื่อทำการทดสอบทูเบอร์คูลิน (สำหรับผู้ติดเชื้อเอชไอวี ควรทำการทดสอบทุก 6 เดือน) ถ้าพบว่าให้ผลบวกซึ่งแสดงว่าเป็นผู้ติดเชื้อวัณโรค แพทย์จะพิจารณาให้กินไอเอ็นเอชป้องกัน ขนาด 300 มก./วัน (เด็ก 10 มก./กก./วัน) วันละครั้ง นาน 9-12 เดือน
ตัวอย่างผู้ที่ควรกินไอเอ็นเอชป้องกัน เช่น
- ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยวัณโรคระยะติดต่อ ผู้ที่พบรอยโรคในปอดจากภาพถ่ายรังสี ซึ่งมีผลการทดสอบทูเบอร์คูลินขนาด ≥ 5 มม. ควรกินยาป้องกันนานอย่างน้อย 12 เดือน
- เด็กอายุต่ำกว่า 4 ปี ผู้ที่ฉีดยาเสพติดหรือติดแอลกอฮอล์ ผู้ป่วยเบาหวาน ไตวายเรื้อรัง มะเร็งเม็ดเลือดขาวหรือมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ผู้ที่อยู่ในสถานที่ที่มีความเสี่ยงสูง (เช่น นักโทษในเรือนจำ ผู้สูงอายุในสถานพักฟื้น บุคลากรที่ดูแลผู้ป่วยในโรงพยาบาล เป็นต้น) ซึ่งมีผลการทดสอบทูเบอร์คูลินขนาด ≥ 10 มม.
- บุคคลทั่วไปที่ไม่ได้เป็นกลุ่มเสี่ยง ซึ่งมีผลการทดสอบทูเบอร์คูลินขนาด ≥ 15 มม.
ข้อแนะนำ
1. วัณโรคไม่ใช่โรคที่น่ากลัวหรือน่ารังเกียจ และเป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายขาดได้ โดยการกินยารักษาวัณโรคทุกวันจนครบ 6 เดือน หรือตามที่แพทย์กำหนด ซึ่งมีสูตรยาให้เลือกอยู่หลายสูตร ถึงแม้อาการดีขึ้นแล้วก็ไม่ควรหยุดกินยาเอง การกินยาไม่สม่ำเสมอหรือไม่ครบกำหนด อาจทำให้เชื้อดื้อยา รักษายาก สิ้นเปลือง และอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงได้
ญาติ สมาชิกในครอบครัว และเพื่อนบ้าน ควรมีส่วนร่วมกระตุ้นและช่วยกำกับให้ผู้ป่วยกินยาทุกวัน ถ้าเป็นไปได้ควรให้กินต่อหน้า และจดบันทึกในปฏิทินทุกวันเพื่อกันลืม
2. ควรสังเกตผลข้างเคียงที่อาจเกิดจากยารักษาวัณโรค เช่น ผื่นคัน คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ดีซ่าน ตามัว หูอื้อ มีไข้ขึ้น เป็นต้น หากสงสัยควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด เพื่อปรับเปลี่ยนการใช้ยาให้เหมาะสมและสามารถกินยาได้อย่างต่อเนื่อง
ยาหลายชนิด ได้แก่ ไอเอ็นเอช ไรแฟมพิซิน ไพราซินาไมด์ อาจทำให้ตับอักเสบ (ดีซ่าน) ได้ ในรายที่เป็นกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้ป่วยที่ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำมีประวัติเป็นโรคตับอยู่ก่อน หรืออายุมากกว่า 35 ปี เป็นต้น ควรทำการตรวจเลือดดูระดับเอนไซม์ตับ (AST, ALT) เพื่อประเมินว่ามีตับอักเสบเกิดขึ้นหรือไม่
3. ผู้ป่วยที่สงสัยมีการดื้อยา เช่น กินยาแล้วอาการไม่ดีขึ้น หรือตรวจเสมหะตั้งแต่เดือนที่ 5 ขึ้นไปยังพบเชื้อ หรือแรกเริ่มตรวจเสมหะไม่พบเชื้อ แต่การตรวจเสมหะเมื่อครบเดือนที่ 2 กลับพบเชื้อ ควรส่งปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ อาจจำเป็นต้องทำการเพาะเชื้อและทดสอบว่าเชื้อไวต่อยาชนิดใด จะได้เปลี่ยนไปใช้ยาที่ใช้ได้ผล และอาจต้องกินยาติดต่อกันนานอย่างน้อย 18 เดือน ในกรณีที่ผู้ป่วยมีปัญหาดื้อต่อการใช้ยาอย่างมาก แพทย์อาจพิจารณาผ่าตัดปอดเพื่อลดปริมาณเชื้อลง ช่วยให้การใช้ยาได้ผลดีขึ้น
4. ผู้ป่วยบางรายเมื่อกินยารักษาวัณโรคครบตามกำหนดและตรวจเสมหะไม่พบเชื้อแล้ว ต่อมาอาจมีอาการกำเริบซ้ำได้ หากสงสัยควรกลับไปพบแพทย์ที่เคยให้การรักษาอยู่เดิม อาจจำเป็นต้องใช้สูตรยารักษาวัณโรคที่แตกต่างจากเดิม
5. ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยหรือสมาชิกในบ้านเดียวกับผู้ป่วย ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจพิเศษ ได้แก่ การเอกซเรย์ปอด การทดสอบทูเบอร์คูลิน ถ้าพบว่าเป็นวัณโรคปอดจะได้ให้การรักษาแต่เนิ่น ๆ และหากพบว่ามีการติดเชื้อวัณโรค (แต่ยังไม่เป็นโรค) ก็จำเป็นต้องกินยาไอเอ็นเอช นาน 9 เดือน เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นโรค
6. ผู้ที่มีอาการสงสัยว่าเป็นวัณโรคปอด เช่น เป็นไข้เรื้อรัง เบื่ออาหารและหนักลด ไอมีเสมหะเหลืองหรือเขียวนานเกิน 3 สัปดาห์ ไอเป็นเลือด เป็นต้น ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจเช็กร่างกาย ถ้าเป็นโรคนี้จะได้รักษาเสียแต่เนิ่น ๆ เพื่อป้องกันมิให้โรคลุกลาม และมิให้แพร่เชื้อให้ผู้อื่นต่อไป แต่ถ้าตรวจไม่พบเชื้อวัณโรค หรือให้ยารักษาวัณโรคแล้วไม่ดีขึ้น ก็อาจเกิดจากสาเหตุอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมลิออยโดชิส ซึ่งพบมากทางภาคอีสาน