หูตึง (หูหนวก) หมายถึง ภาวะการได้ยินเสียงลดลง อาจเป็นเพียงเล็กน้อยหรือไม่ได้ยินเลย (หูหนวกสนิท)
มีสาเหตุได้มากมาย เช่น เยื่อแก้วหูทะลุ, หูชั้นกลางอักเสบ, โรคเมเนียส์, ซิฟิลิส, หูหนวกมาแต่กำเนิด (เช่น ทารกที่เป็นหัดเยอรมันแต่กำเนิด) ซึ่งมักจะมีอาการเป็นใบ้ร่วมด้วย, เนื้องอกสมองหรือเนื้องอกประสาทหู, พิษจากยา (เช่น สเตรปโตไมซิน คาน่าไมซิน เจนตาไมซิน), หูตึงในผู้สูงอายุ, หูตึงจากอาชีพ เป็นต้น
ในที่นี้จะขอกล่าวถึง หูตึงในผู้สูงอายุ และหูตึงจากอาชีพ
- หูตึงในผู้สูงอายุ เกิดจากประสาทหูเสื่อมตามวัย พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ ผู้ชายมีโอกาสเป็นมากกว่าและรุนแรงกว่าผู้หญิง โดยมากจะเริ่มแสดงอาการเมื่ออายุประมาณ 60 ปีขึ้นไป
- หูตึงจากอาชีพ ผู้ที่ทำงานอยู่ในที่ที่มีเสียงดังขนาดมากกว่า 90 เดซิเบลขึ้นไปเป็นเวลานาน ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในความถี่สูง ๆ (เสียงสูง) มักเกิดอาการหูตึงได้ เนื่องจากเซลล์ประสาทหูถูกคลื่นเสียงทำลาย หากถูกทำลายรุนแรงอย่างถาวร มักไม่มีทางแก้ไขให้กลับคืนดีได้
หูตึงในผู้สูงอายุ มีอาการหูอื้อ หูตึง การได้ยินแย่ลง ซึ่งมักจะค่อยเป็นมากขึ้นทีละน้อย ช่วงแรกยังได้ยินเสียงตะโกนดัง ๆ เมื่อเป็นรุนแรงขึ้นจะไม่ได้ยินเสียงคนพูด ทำให้มีปัญหาในการสื่อสาร
หูตึงจากอาชีพ ผู้ป่วยมักจะเริ่มจากการได้ยินเสียงสูง (เช่น เสียงกระดิ่ง) สู้เสียงต่ำ (เช่น เสียงเคาะประตู) ไม่ได้ ถ้ายังคงทำงานอยู่ในที่ที่เสียงดังเช่นเดิม อาการหูตึงจะค่อย ๆ เป็นมากขึ้นจนถึงขั้นหูหนวกได้ แต่ถ้าเลิกทำงานในที่ที่เสียงดัง ๆ อาการหูตึงจะค่อย ๆ ทุเลาไปได้เอง
ผู้ที่มีอาการหูตึงมาก ๆ มีความลำบากในการสื่อสารกับผู้คน อาจทำให้มีปมด้อย ไม่กล้าออกสังคม มีความวิตกกังวล หรืออารมณ์ซึมเศร้าได้
ทารกที่มีหูตึงมาแต่กำเนิด มีโอกาสเป็นใบ้ร่วมด้วย
สำหรับหูตึงในผู้สูงอายุ และหูตึงจากอาชีพ แพทย์จะวินิจฉัยขั้นต้นจากการที่ผู้ป่วยมีอาการหูตึง โดยไม่มีอาการผิดปกติอื่น ๆ และการตรวจร่างกายมักไม่พบความผิดปกติทางร่างกายและโครงสร้างภายนอกของหู แพทย์จะทำการวินิจฉัยให้แน่ชัดโดยการใช้เครื่องมือตรวจการได้ยิน พบว่าสมรรถนะของการได้ยินลดลงซึ่งเกี่ยวข้องกับความเสื่อมของประสาทหู
ในบางกรณี แพทย์อาจทำการตรวจพิเศษเพิ่มเติมเพื่อแยกแยะสาเหตุให้ชัดเจน เช่น การตรวจเลือด การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เป็นต้น
อาการหูตึง แพทย์จะให้การรักษาตามสาเหตุที่ตรวจพบ ถ้าเกิดจากหูชั้นกลางอักเสบจากการติดเชื้อ ให้ยารักษาภาวะติดเชื้ออักเสบ, แก้วหูทะลุ ก็อาจรักษาด้วยการผ่าตัดแก้ไข เป็นต้น
หูตึงในผู้สูงอายุ และหูตึงจากอาชีพ ซึ่งเกิดจากประสาทหูเสื่อม ไม่มียารักษา หากมีอาการหูตึงหูนวกรุนแรง ก็จะแก้ไขด้วยการให้ผู้ป่วยใส่เครื่องช่วยฟัง
เมื่อเริ่มรู้สึกหูอื้อ หูตึง ความสามารถในการได้ยินแย่ลง ควรปรึกษาแพทย์
เมื่อตรวจพบว่ามีอาการหูตึง ไม่ว่าเกิดจากสาเหตุใด ๆ ควรดูแลรักษา ปฏิบัติตามคำแนะนำ และติดตามรักษาตามคำแนะนำของแพทย์
ขึ้นกับสาเหตุที่ทำให้หูตึง
สาเหตุบางอย่างป้องกันไม่ได้ เช่น หูตึงในผู้สูงอายุซึ่งเกิดจากความเสื่อมตามวัย โรคเมเนียส์ เนื้องอกประสาทหู เป็นต้น
ส่วนสาเหตุที่ป้องกันได้ เช่น โรคหูชั้นกลางอักเสบ เยื่อแก้วหูทะลุจากการบาดเจ็บ หูตึงจากพิษยา หูตึงจากอาชีพ มีวิธีป้องกัน ดังนี้
- เมื่อเป็นโรคหูชั้นกลางอักเสบ ควรดูแลรักษาให้ได้ผล อย่าปล่อยให้เป็นเรื้อรัง
- หลีกเลี่ยงการบาดเจ็บหรือการกระทบกระเทือนบริเวณหู
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่มีพิษต่อประสาทหู
- สำหรับหูตึงจากอาชีพ อาจป้องกันไม่ให้หูตึงด้วยวิธีดังนี้
- หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่เสียงดังนาน
- ผู้ที่มีอาชีพที่ต้องทำงานในที่ที่มีเสียงดัง ควรสวมเครื่องป้องกันหูขณะที่อยู่ในที่ทำงาน, ควรให้แพทย์ทำการทดสอบการได้ยินเป็นระยะ, หากเริ่มมีอาการหูตึง ควรเลิกทำงานในสถานที่เดิม และย้ายไปทำงานในสถานที่ที่ไม่มีเสียงดัง
หูอื้อหรือหูตึงเป็นอาการที่อาจเกิดจากสาเหตุได้หลายประการ หากพบว่ามีอาการหูอื้อ หูตึง ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและรับการรักษาแต่เนิ่น ๆ