โรคพยาธิแส้ม้า เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อพยาธิแส้ม้า* ที่ปนเปื้อนมากับผัก อาหาร น้ำดื่ม หรือนิ้วมือ พบได้ในทุกอายุ แต่พบในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ และพบทางภาคใต้มากกว่าภาคอื่น ๆ เป็นพยาธิที่พบได้น้อยกว่าพยาธิตัวกลมชนิดอื่น ๆ
พยาธิแส้ม้า (whip worm/Trichuris trichiura) เป็นพยาธิตัวกลมชนิดหนึ่ง พยาธิตัวเต็มวัย (ตัวแก่) มีลักษณะคล้ายแส้ม้า ยาวประมาณ 3-5 ซม. อาศัยอยู่ในกระพุ้งไส้ใหญ่ (cecum) และลำไส้ใหญ่ ตัวเมียจะปล่อยไข่ออกมากับอุจจาระลงอยู่ตามพื้นดิน (ประมาณวันละ 3,000-20,000 ฟอง) ไข่จะเจริญเติบโตจนมีตัวอ่อนอยู่ในไข่ (ซึ่งใช้เวลาประมาณ 15-30 วัน) เมื่อคนกลืนไข่พยาธิที่ปนเปื้อนมากับผัก ผลไม้ อาหาร น้ำดื่ม หรือนิ้วมือ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กที่ชอบเล่นตามดินทราย อาจมีไข่พยาธิติดเปื้อนมือได้) เข้าไป เปลือกไข่จะถูกย่อยปล่อยพยาธิตัวอ่อนออกมา แล้วเจริญเติบโตเป็นตัวเต็มวัยอาศัยอยู่ในกระพุ้งไส้ใหญ่และลำไส้ใหญ่ต่อไป
การติดต่อของโรคนี้เกิดจากการกลืนไข่พยาธิที่ปนเปื้อนมากับผัก อาหาร น้ำดื่ม หรือนิ้วมือเข้าไป
ส่วนมากไม่มีอาการแสดงอะไร
ในรายที่มีพยาธิจำนวนมาก อาจมีอาการปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน หรือถ่ายอุจจาระเป็นมูกเลือด อาจมีอาการซีด อ่อนเพลีย น้ำหนักลด
ในเด็กบางคนที่เป็นรุนแรง อาจมีอาการเบ่งถ่ายอุจจาระจนทำให้ทวารหนักโผล่ออกมาข้างนอก เห็นเป็นก้อนเนื้อแดง
อาจทำให้เกิดภาวะโลหิตจางเนื่องจากการถ่ายเป็นมูกเลือดเรื้อรัง
ในเด็กที่เป็นโรคนี้เรื้อรัง อาจทำให้ร่างกายขาดธาตุเหล็ก วิตามินและสารอาหารอื่น ๆ ทำให้ร่างกายเจริญเติบโตช้า สติปัญญาพร่อง น้ำหนักลด
นอกจากนี้ยังอาจทำให้เกิดลำไส้ใหญ่อักเสบ หรือไส้ติ่งอักเสบได้
การวินิจฉัยที่แน่ชัด คือการตรวจพบไข่พยาธิในอุจจาระด้วยกล้องจุลทรรศน์
แพทย์จะให้กินยาฆ่าพยาธิ เช่น มีเบนดาโซล, อัลเบนดาโซล เป็นต้น
และให้การรักษาตามอาการ เช่น ให้ยาบำรุงโลหิตในรายที่มีภาวะโลหิตจาง เป็นต้น
หากสงสัย เช่น มีอาการปวดท้อง ท้องเดิน ถ่ายเป็นมูกเลือดบ่อย, เด็กมีอาการทวารหนักโผล่ หรือมีอาการอ่อนเพลีย และหน้าตาซีดเซียว ควรปรึกษาแพทย์
เมื่อตรวจพบว่าเป็นโรคพยาธิแส้ม้า ควรดูแลตนเอง ดังนี้
- รักษา กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
- ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
- ดูแลรักษาแล้วอาการไม่ทุเลาใน 1-2 สัปดาห์
- มีอาการปวดท้องรุนแรง หรือเบ่งถ่ายจนทวารหนักโผล่
- ขาดยา ยาหาย หรือกินยาไม่ได้
- ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินต่อที่บ้าน กินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน จุดแดงจ้ำเขียว หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ
- ถ่ายอุจจาระในส้วมที่ถูกสุขลักษณะ อย่าถ่ายอุจจาระลงพื้นดินหรือแม่น้ำลำคลอง
- ล้างมือด้วยน้ำกับสบู่ก่อนเตรียมอาหารและกินอาหารทุกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กควรกวดขันให้ล้างมือก่อนกินอาหาร และหลังกลับจากการเล่นที่สนามนอกบ้าน เนื่องเพราะเด็กมักเผลอดูดนิ้วมือเล่น ซึ่งอาจมีไข่พยาธิปนเปื้อนได้
- ล้างผักและผลไม้ให้สะอาดก่อนรับประทานทุกครั้ง ถ้าไม่มั่นใจควรกินผักที่ปรุงสุก และกินผลไม้ที่ปอกเปลือก
- ดื่มน้ำสุกหรือน้ำสะอาด และกินอาหารที่ปรุงสุกและร้อน
เด็กที่มีอาการเบ่งถ่ายอุจจาระจนทวารหนักโผล่ หรือมีการเจริญเติบโตและพัฒนาการช้า หรือน้ำหนักน้อย ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุให้แน่ชัด อาจมีสาเหตุจากโรคพยาธิแส้ม้าหรืออื่น ๆ ได้