โรคพยาธิปากขอเป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อพยาธิปากขอ*ที่อยู่ตามพื้นดิน
โรคนี้พบได้ทุกภาคของประเทศ แต่จะพบในภาคใต้มากกว่าภาคอื่น ๆ มักพบในชาวไร่ ชาวนา ชาวสวน และเด็ก ๆ ที่เดินเท้าเปล่าบนพื้นดิน หรือในเด็กที่ชอบเล่นคลุกดิน
*วงจรชีวิตของพยาธิปากขอ
พยาธิปากขอ (Ancylostoma duodenale และ Necator americanus) มีขนาดยาวประมาณ 1 ซม. เกาะอาศัยอยู่บนผนังลำไส้ และดูดเลือดจากบริเวณนั้น ไข่พยาธิจะหลุดออกมากับอุจจาระ ซึ่งจะเจริญเติบโตบนพื้นดินที่ชื้นและมีความอุ่น พยาธิตัวอ่อนที่ฟักตัวบนดินจะไชเข้าทางผิวหนังของคนที่เดินผ่านไปมาหรือเด็กที่เล่นคลุกดิน เข้าไปในกระแสเลือด ไปยังหัวใจและปอด จากปอดพยาธิจะเคลื่อนตัวขึ้นมาที่หลอดลมจนถึงคอหอย แล้วจะถูกกลืนลงหลอดอาหารเข้าไปในกระเพาะและลำไส้เล็ก แล้วเจริญเป็นตัวแก่ต่อไปในลำไส้เล็ก นอกจากนี้ ถ้ากินอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนพยาธิตัวอ่อนระยะติดต่อ พยาธิอาจไชผ่านเยื่อบุในปากและเข้ากระแสเลือดได้เช่นกัน
การติดต่อของโรคนี้ เกิดจากพยาธิปากขอตัวอ่อนที่อยู่บนพื้นไชเข้าเท้าของผู้ที่เดินเท้าเปล่า หรือเกิดจากกินพยาธิตัวอ่อนระยะติดต่อที่ปนเปื้อนอาหารหรือน้ำดื่ม
เมื่อพยาธิไชเข้าเท้า อาจทำให้มีตุ่มแดงคันที่ผิวหนังในบริเวณนั้น ผู้ป่วยอาจเกาจนเป็นหนอง เมื่อพยาธิเดินทางผ่านปอดใน 1-2 สัปดาห์ต่อมา อาจทำให้มีอาการหลอดลมหรือปอดอักเสบได้
แต่อาการที่พบบ่อย คือ จุกเสียดแน่นที่ยอดอก ปวดท้อง หรือท้องเดิน ถ้ามีจำนวนพยาธิมาก จะทำให้มีอาการซีด มึนงง หน้ามืด อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด และถ้าซีดมาก ๆ อาจทำให้มีอาการบวมหรือหัวใจวายได้
อาการมากน้อยขึ้นกับจำนวนพยาธิที่มีอยู่ในลำไส้ (อาการซีดจะเกิดขึ้นเมื่อมีพยาธิมากกว่า 100 ตัวขึ้นไป) อายุของพยาธิ ความต้านทาน และภาวะทางโภชนาการของผู้ป่วย
ที่พบบ่อย คือ โลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก เนื่องจากการเสียเลือดเรื้อรัง หากปล่อยปละละเลยจนมีภาวะโลหิตจางรุนแรง อาจทำให้เกิดภาวะหัวใจวายได้
อาจทำให้ขาดอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งขาดสารโปรตีน ซึ่งหากขาดโปรตีนรุนแรงอาจทำให้ท้องมาน (มีน้ำในท้อง) ได้
เด็กที่เป็นโรคพยาธิปากขอเรื้อรัง อาจทำให้ร่างกายเจริญเติบโตช้า และสติปัญญาพร่อง เนื่องจากการขาดโปรตีนและธาตุเหล็กเรื้อรัง
การวินิจฉัยที่แน่ชัด คือ การตรวจอุจจาระจะพบไข่พยาธิ บางรายแพทย์จะทำการตรวจเลือดดูภาวะโลหิตจาง
แพทย์จะให้การดูแลรักษา ดังนี้
- ให้ยาฆ่าพยาธิ เช่น มีเบนดาโซล หรืออัลเบนดาโซล
- ถ้าซีด ให้กินยาบำรุงโลหิตติดต่อกัน 4-6 เดือน
- ในรายที่มีภาวะหัวใจวายจากภาวะโลหิตจางรุนแรง แพทย์จะรับตัวไว้ในโรงพยาบาล ให้เลือด และให้ยารักษาภาวะหัวใจวาย
หากสงสัย เช่น มีอาการจุกเสียดแน่นยอดอก ปวดท้อง หรือท้องเดินบ่อย หรือมีอาการอ่อนเพลีย และหน้าตาซีดเซียว ควรปรึกษาแพทย์
เมื่อตรวจพบว่าเป็นโรคพยาธิปากขอ ควรดูแลตนเอง ดังนี้
- รักษา กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
- ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
- ดูแลรักษาแล้วอาการไม่ทุเลาใน 1-2 สัปดาห์
- ขาดยา ยาหาย หรือกินยาไม่ได้
- ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินต่อที่บ้าน กินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน จุดแดงจ้ำเขียว หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ
- ถ่ายอุจจาระลงในส้วมที่ถูกสุขลักษณะ
- สวมรองเท้าถ้าต้องเดินบนดิน (ไม่เดินเท้าเปล่า)
- หลีกเลี่ยงการเล่นคลุกบนดินทราย
- ดื่มน้ำสุกหรือน้ำสะอาด และกินอาหารที่ปรุงสุกและร้อน
1. ผู้ป่วยที่มีอาการซีดเนื่องจากภาวะขาดธาตุเหล็ก ถ้าหากอยู่ในพื้นที่ที่มีพยาธิปากขอชุกชุม นอกจากให้ยาบำรุงโลหิตแล้ว ควรให้ยาฆ่าพยาธิปากขอร่วมด้วย
2. ผู้ที่สงสัยว่าเป็นโลหิตจางจากภาวะขาดธาตุเหล็ก ให้ยาบำรุงโลหิตแล้วไม่ทุเลา ควรตรวจหาว่ามีสาเหตุจากอะไร รวมทั้งการตรวจอุจจาระดูว่าเป็นโรคพยาธิปากขอหรือไม่