โรคพยาธิเส้นด้ายเป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อพยาธิเส้นด้าย (thread worm)* ซึ่งอาศัยอยู่ในลำไส้ใหญ่ของคน
โรคนี้มักเป็น ๆ หาย ๆ บ่อย เพราะมีโอกาสติดจากกันได้ง่าย แต่เมื่อเด็กโตขึ้น รู้จักรักษาความสะอาดและมีสุขนิสัยดีขึ้น การติดโรคนี้ก็จะค่อย ๆ ลดน้อยลง ดังนั้นโรคนี้จึงมักพบในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่
โรคนี้ไม่ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน หรือเกิดโทษร้ายแรงแต่อย่างใด
การติดต่อของโรคนี้ มักเป็นการติดจากตัวของผู้ป่วยเอง โดยการกลืนไข่หรือตัวอ่อนที่เปื้อนมือตัวเองดังกล่าว เช่น การอมมือหรือกัดเล็บของตัวเองเล่น หรือกินข้าวด้วยมือ
ส่วนผู้อื่นอาจติดโรคนี้ได้โดยการสัมผัสถูกมือของผู้ที่มีพยาธิอยู่ก่อน แล้วกลืนเอาไข่หรือตัวอ่อนจากมือที่เปื้อนอีกทอดหนึ่ง
บางครั้งไข่หรือพยาธิ อาจเปื้อนอยู่ตามเก้าอี้นั่ง ที่นอน เสื้อผ้า ฝุ่นละออง ซึ่งอาจเปื้อนต่อไปที่มือ อาหาร น้ำดื่ม เมื่อคนเรากลืนเอาไข่พยาธิจากสิ่งเหล่านี้เข้าไปก็กลายเป็นโรคนี้ได้
ดังนั้น ถ้ามีคนในบ้านเป็นโรคนี้เพียงคนเดียว ในไม่ช้าก็จะแพร่กระจายไปให้คนอื่น ๆ อย่างรวดเร็ว จึงมักพบเป็นพร้อม ๆ กันหลายคนในครอบครัวหรือในโรงเรียน ถือเป็นโรคพยาธิที่พบได้บ่อยมากชนิดหนึ่ง
มักมีอาการคันก้นมาก (เด็กผู้หญิงบางรายอาจคันที่ช่องคลอดด้วย) เฉพาะในเวลากลางคืน ผู้ป่วยมักจะต้องเกาก้นและอาจนอนไม่หลับ
บางครั้งถ้าเอาไฟฉายส่องดูที่ปากทวารหนัก อาจพบตัวพยาธิมีลักษณะคล้ายเส้นด้ายเล็ก ๆ สีขาว
ส่วนใหญ่ไม่มีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง
ในผู้หญิง ตัวพยายาธิอาจเข้าไปในช่องคลอดและมดลูก ทำให้ช่องคลอดอักเสบหรือมดลูกอักเสบได้
แพทย์จะวินิจฉัยจากการตรวจพบพยาธิเส้นด้ายที่ปากทวารหนักและการตรวจหาไข่พยาธิ โดยใช้ "สก็อตเทป" แปะที่ปากทวารหนัก แล้วปิดลงบนแผ่นกระจกใส (slide) นำไปส่องด้วยกล้องจุลทรรศน์
แพทย์จะให้การดูแลรักษา ดังนี้
1. ให้ยาฆ่าพยาธิ เช่น มีเบนดาโซล หรืออัลเบนดาโซล ควรกินซ้ำอีกครั้งในอีก 1 สัปดาห์ต่อมา ควรรักษาทุกคนในบ้านพร้อม ๆ กัน
2. ระหว่างการรักษา ควรนำกางเกงใน ชุดนอน และผ้าปูที่นอนไปต้มให้สะอาด
หากสงสัย เช่น มีอาการคันก้น หรือคันช่องคลอดในเวลากลางคืน หรือเอาไฟฉายส่องปากทวารพบตัวพยาธิลักษณะคล้ายเส้นด้าย ควรปรึกษาแพทย์
เมื่อตรวจพบว่าเป็นโรคพยาธิเส้นด้าย ควรดูแลตนเอง ดังนี้
- รักษา กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
- ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
- ดูแลรักษาแล้วอาการไม่ทุเลาใน 1-2 สัปดาห์
- ขาดยา ยาหาย หรือกินยาไม่ได้
- ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินต่อที่บ้าน กินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน จุดแดงจ้ำเขียว หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ
ในการป้องกันการติดโรคนี้ซ้ำ ๆ ควรปฏิบัติดังนี้
1. หมั่นตัดเล็บให้สั้น
2. ล้างมือก่อนกินอาหาร และหลังถ่ายอุจจาระทุกครั้ง
3. ซักล้างเสื้อผ้าและผ้าปูที่นอนให้สะอาด
โรคนี้ไม่มีอันตราย แต่อาจเป็นเรื้อรัง ทำให้รำคาญ หรือนอนไม่พอ และจะค่อย ๆ หายได้เองเมื่อโตขึ้น